วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ใช้อารมณ์อย่างไร? ให้เกิดประโยชน์


        ความเครียดทุกรูปแบบนั้นย่อมมีอารมณ์เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ แต่คุณสามารถนำพลังของอารมณ์ที่เกิดจากความเครียดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ถ้านำมาใช้ให้ถูกวิธีแล้วจะเกิดประโยชน์กับคุณมาก

        แต่ก่อนอื่นใด คุณจะต้องรู้จักจำแนกแยกแยะระหว่าง ความคิด แรงดลใจ ประสาทสัมผัสและอารมณ์ต่างๆก่อน คุณจะพบว่าคำว่า "ความรู้สึก" นั้นมักถูกนำมาประยุกต์ใช้กับธรรมชาติของมนุษย์เสมอ

        คุณจะพบว่า บางครั้งที่คุณตั้งใจที่จะสื่อความเข้าใจในเรื่องของอารมณ์ แต่กลับไปพูดเรื่องที่เกี่ยวกับความคิด แรงดลใจ หรือประสาทสัมผัส ซึ่งอาจจะสร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นกับบุคคลที่กำลังพูดอยู่ก็ได้


การฝึกอารมณ์คืออะไร?

  1. การควบคุม
  2. ความรู้
  3. การเปลี่ยนรูป
  4. การสื่อความเข้าใจ
  5. การระบายอารมณ์
        การที่เราจะนำพลังจากอารมณ์มาใช้ให้เป็นประโยชน์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ อย่างไรก็ตามมีความเข้าใจผิดอยู่ว่า เมื่อคนเราโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะสามารถจะเรียนรู้ทุกสิ่งเกี่ยวกับอารมณ์ที่ตนเองมีอยู่ได้

        ซึ่งการฝึกอารมณ์ของคนเรานั้น เราจะสามารถปรับปรุงเทคนิคใหม่ๆ สร้างความเชี่ยวชาญให้รู้จักใช้อารมณ์ได้ดีขึ้น ซึ่งความสามารถพิเศษดังกล่าวรวมถึง


การควบคุม

        
        การควบคุมอารมณ์ของคนเรานั้นเป็นสิ่งที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ ทั้งนี้โอกาสมากมายที่คุณจะต้องสงบอารมณ์ของตนเองไว้ เพื่อไม่ให้ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจใคร หรือควบคุมอารมณ์ของตนเองในขณะที่มีความเครียดเกิดขึ้น

ขั้นตอนการฝึก
  1. เรียนรู้วิธีการฝึกลมหายใจ ผ่อนคลาย และเทคนิคการทำสมาธิ เพื่อที่ว่าเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้นคุณจะสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้โดยง่าย
  2. หลีกเลี่ยงออกมาจากสถานการณ์อันจะสร้างความเครียดให้เกิดขึ้น เพื่อตั้งสติให้มั่น
  3. เปลี่ยนหัวข้อการสนทนาไปพูดเรื่องที่จะสร้างความสบายใจให้เกิดขึ้น เพื่อให้คุณมีเวลาที่จะควบคุมสติตัวเองให้มั่น
  4. มองหาองค์ประกอบในแง่บวกจากสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นแง่ลบก็ตาม

ความรู้

        
        ในเรื่องความรู้นี้หมายรวมไปถึง การที่คุณรู้จักอารมณ์ต่างๆของตนเองและรู้ด้วยว่ามันมีอิทธิพลที่จะส่งผลกระทบได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในเรื่องของพฤติกรรม

        ความรู้เกี่ยวกับอารมณ์นี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันจะทำให้คุณเลือกวิธีการที่ควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งดีกว่าการเก็บกดไว้หรือไม่ก็ปล่อยออกมาอย่างปราศจากการควบคุม ตรงจุดนี้มันจะเหลือพื้นที่ไว้ให้เลือกระหว่างการแสดงอารมณ์กับใช้มันเป็นข้อมูล

ขั้นตอนการฝึก
  1. ยอมรับว่าตนเองว่ากำลังมีอารมณ์เกิดขึ้น
  2. สังเกตความเครียดที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตนเอง มันจะช่วยให้คุณรู้ว่าขณะนั้นกำลังมีความรู้สึกอย่างไรอยู่
  3. จะต้องตระหนักว่าในเวลาเดียวกันนั้น คุณสามารถมีอารมณ์มากกว่าหนึ่งแบบ ซึ่งอารมณ์ต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะนั้นอาจจะมีความขัดแย้งอยู่ในตัวมันเองก็ได้
  4. พยายามจับสังเกตว่าอารมณ์ใดที่มีผลกระทบต่อปฎิกิริยาที่คุณแสดงออกมากที่สุด

การสื่อความเข้าใจ

        
        การเปิดเผยตัวเองนั้นมีส่วนช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในการสร้างความสัมพันธ์ มันหมายถึง การเสี่ยงที่จะแบ่งปันความรู้สึกในแง่บวก เปิดเผยความรู้สึกอ่อนแอของตนเองและสร้างการวิพากษ์บนฐานที่แข็งแกร่งขึ้น

ขั้นตอนการฝึก
  1. พยายามศึกษาหาคำพูดที่จะอธิบายให้อีกฝ่ายหนึ่งเข้าใจถึงความรู้สึกที่เกิดอยู่กับคุณได้
  2. ทดลองใช้คำพูดที่ฝึกไว้ โดยเฉพาะคำยากที่สุกที่จะกล่าวออกมา
  3. แบ่งปันความรู้สึกหรืออารมณ์ที่เป็นสุขกับบุคคลหนึ่ง
  4. เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่าตัวเองกำลังอ่อนแอ ควรขอร้องให้ใครสักคนได้รับฟังปัญหาที่แน่นอก แต่ควรอธิบายให้เขาเข้าใจด้วยว่าคุณไม่ได้หวังให้เขาหาหนทางแก้ปัญหาหรือแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งอย่างใดโดยเฉพาะ
  5. เมื่อคุณรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจกับใครบางคน ควรจะบอกให้เขารับรู้ความรู้สึกนั้น
  6. จงให้ความสนใจกับความรู้สึกของคนอื่น แต่จงอย่าสอดรู้สอดเห็นในเรื่องของเขา เพื่อหาหนทางเปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องของตนเอง โดยนำความคล้ายคลึงเข้ามาเป็นข้อเปรียบเทียบ และ จงอย่าให้คำแนะนำนอกเสียจากเรื่องที่จะได้รับการร้องขอ ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้รับฟังแต่ไม่ใช่เพื่อการวิจารณ์ขณะใครบางคนเปิดเผยถึงความรู้สึกของเขาให้คุณฟัง

การระบายอารมณ์

        
        ถ้าคุณฝึกตนเองให้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเพราะมันเป็นกระบวนการควบคุมอารมณ์ที่ระบายออกมา มันจะทำให้รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรอยู่และเลือกที่จะทำมันอย่างปลอดภัยถูกต้องทั้งกาละและเทศะ

ขั้นตอนการฝึก
  1. เลือกการระบายอารมณ์ให้เหมาะทั้งสถานที่และเวลา
  2. ถ้าคุณไม่คุ้นเคยกับการระบายอารมณ์ ทดลองทำในตอนแรกๆโดยใช้เวลาช่วงสั้นๆโดยนำเทคนิคการควบคุมตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย
  3. เอาเทคนิคการระบายอารมณ์มาใช้แม้จะรู้สึกว่าอารมณ์ที่เกิดอยู่มิได้เกิดจากสาเหตุภายนอกก็ตาม การระบายอารมณ์โดยสามารถควบคุมให้มีความสมดุลนั้นเป็นความเชี่ยวชาญที่เกิดจากการฝึก
  4. คุณอาจเปล่งเสียงกรีดร้องหรือตะโกนใส่หมอน เมื่อคุณอยู่คนเดียวและแน่ใจว่าไม่มีใครได้ยิน
  5. เก็บของที่สามารถบดขยี้ไว้ใกล้มือ เมื่อใดที่เกิดความโกรธจนไม่สามารถระงับได้ก็คว้าขึ้นมาบดขยี้ให้ดัง
  6. เตะหรือกระแทกหมอน เบาะที่นอน หรือแม้แต่กล่องกระดาษเพื่อระบายอารมณ์

การเปลี่ยนรูปอารมณ์

        
        หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพลังงานของอารมณ์ให้เกิดผลทางด้านความคิดและหนทางปฎิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนการฝึก
  1. เคลื่อนไหวร่างกายไปรอบๆเพื่อระบายพลังงานออกมา หลังจากนั้นจึงลงมือทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณกังวลเกี่ยวกับรายงาน ลองเดินด้วยฝีเท้าหนักๆอย่างรวดเร็วแล้วเริ่มต้นทำรายงานนั้นทันที
  2. ทุ่มเทอารมณ์และความรู้สึกลงไปในงานบางอย่างที่เกี่ยวกับความสร้างสรรค์
  3. บริหารร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเวลาที่เกิดความเครียดขึ้นมา การออกกำลังบริหารร่างกายจะช่วยให้คุณได้รับประโยชน์อย่างมาก
  4. พยายามฝึกสมาธิเพราะการฝึกสมาธิจะทำให้คุณสามารถเปลี่ยนรูปอารมณ์และความรู้สึกให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์ได้

ข้อควรจำ

        การเรียนรู้วิธีการควบคุมอารมณ์ของตนเอง จะทำให้พลังอารมณ์แข็งแรงมีคุณค่าทั้งต่องานที่ทำอยู่และต่อชีวิตคุณเป็นอย่างมาก การทำให้ตนเองมีความเชี่ยวชาญในเรื่องอารมณ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับอารมณ์เท่ากับเป็นการสร้างพลังให้เกิดขึ้น ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในทางสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นเครื่องสนับสนุนให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดีอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น