วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อจำกัดของการรับรู้


     บทความต่อไปนี้มาจากส่วนหนึ่งของข้อความจากบทหนึ่งในหนังสือที่ชื่อว่า "เรื่องของคน" เขียนโดย นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ผมถือว่าบทความดังกล่าวมีความน่าสนใจรวมกับส่วนผสมระหว่างวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาอย่างลงตัว มีอรรถรสและสร้างความเพลิดเพลินในการอ่าน ด้วยเหตุนี้ผมจึงนำบทความนี้มาฝากชาว Blogger กัน

---

     ในภาพด้านบน คุณจะเห็นวงกลมสองกลุ่ม คือ กลุ่มทางซ้าย กับ กลุ่มทางขวา คำถามคือ คุณเห็นวงกลมที่อยู่ตรงกลางของรูปบนเล็กหรือใหญ่กว่าของรูปล่าง?

     ถ้าคุณดูภาพนี้เป็นครั้งแรก และ คุณเป็นเหมือนคนทั่วไป คุณจะมองเห็นวงกลมตรงกลางของกลุ่มวงกลมด้านซ้ายใหญ่กว่าวงกลมตรงกลางของกลุ่มวงกลมด้านขวา แต่ที่จริงแล้ว วงกลมทั้งสองวงนี้มีขนาดเท่ากัน ถ้าคุณไม่เชื่อก็ลองหยิบไม้บรรทัดขึ้นมาวัดเส้นผ่านศูนย์กลางของมันดูก็ได้

     การรับรู้ของคนเรามีข้อจำกัด ในกรณีนี้ ดวงตาของเรารับรู้ขนาดของวงกลมที่อยู่ตรงกลางได้ด้วยการเปรียบเทียบกับขนาดวงกลมที่อยู่ตรงกลางได้ด้วยการเปรียบเทียบกับขนาดวงกลมวงอื่นที่อยู่รอบๆ ดวงตาของเราไม่อาจรับรู้ขนาดของสิ่งของได้โดยไม่อาศัยการเปรียบเทียบกับสิ่งอื่น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของข้อจำกัดที่มีอยู่ในประสาทสัมผัสของเรา

    ไม่ใช่เฉพาะแต่การมองเห็นเท่านั้นที่มีข้อจำกัด ประสาทสัมผัสอย่างอื่นที่เหลือของเราก็มีข้อจำกัดแบบเดียวกันด้วย คุณคงเคยได้ยินการทดลองทางวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง ที่บอกให้คุณเอามือซ้ายจุ่มในถ้วยน้ำร้อน มือขวาจุ่มในถ้วยน้ำเย็น จากนั้นสักพักหนึ่ง ก็ย้ายมือทั้งสองข้างไปจุ่มลงในถ้วยใบเดียวกันที่มีน้ำอุ่นอยู่ในถ้วยแทน

     คุณจะรับรู้ว่า น้ำในถ้วยใบนั้นเป็นน้ำเย็นจากมือซ้ายของคุณ แต่รับรู้ว่าเป็นน้ำร้อนจากมือขวา ทั้งที่มือทั้งสองข้างของคุณอยู่ในถ้วยใบเดียวกัน ผิวหนังของเราก็อาศัยการเปรียบเทียบอุณหภูมิของสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่งในการบอกว่ามันเย็นหรือร้อน เช่นกัน ประสาทสัมผัสทั้งห้าของเราล้วนแล้วแต่มีข้อจำกัดในการรับรู้ทั้งสิ้น เราไม่อาจเชื่อถือการรับรู้ของเราได้ร้อยเปอร์เซนต์

...



     ไม่เพียงแต่การรับรู้ทางประสาทสัมผัสของเราเท่านั้นที่มีข้อจำกัด การรับรู้เชิงนามธรรมทั้งหลายของเรา เช่น การรับรู้เรื่องปริมาณ ก็มีข้อบกพร่องด้วย สมมติว่า คุณกำลังจะซื้อเสื้อกันหนาวตัวหนึ่งราคา 4,000 บาทที่ร้านแห่งหนึ่งพร้อมด้วยเครื่องคิดเลขอีกเครื่องหนึ่งราคา 600 บาท ถ้ามีคนมากระซิบคุณว่า ที่ร้านขายของอีกร้านหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป (ต้องขับรถออกไปอีก 20 นาที) มีขายเครื่องคิดเลขแบบเดียวกันในราคาแค่ 350 บาทเท่านั้น คุณจะตัดสินใจขับรถไปซื้อเครื่องคิดเลขที่ร้านแห่งนั้นแทนหรือไม่?

     ถ้าคุณเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ประมาณ 70% บนโลกที่ได้ยินคำถามนี้ คุณจะยอมขับรถไปซื้อเครื่องคิดเลขที่ร้านถูก แต่หากเราลองเปลี่ยนคำถามนี้ใหม่ เป็นดังนี้

     สมมติว่าคุณกำลังจะซื้อเสื้อตัวหนาวตัวหนึ่งราคา 600 บาทที่ร้านแห่งหนึ่ง พร้อมด้วยเครื่องคิดเลขอีกเครื่องหนึ่งราคา 4,000 บาท ถ้ามีคนมากระซิบคุณว่า ที่ร้านขายของอีกร้านหนึ่งที่อยู่ห่างออกไป (ต้องขับรถออกไป 20 นาที) มีขายเครื่องคิดเลขแบบเดียวกันในราคาแค่ 3,750 บาทเท่านั้น คุณจะยอมขับรถไปซื้อเครื่องคิดเลขที่ร้านแห่งนั้นแทนหรือไม่?

     ถ้าคุณเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่ประมาณ 70% บนโลกที่ได้ยินคำถามนี้อีกเช่นกัน คุณจะตัดสินใจไม่ขับรถไปซื้อเครื่องคิดเลขที่ร้านแห่งนั้น

     ที่จริงแล้วทั้งสองกรณี คุณจ่ายเงินน้อยลง 250 บาทเท่ากันด้วยการเปลี่ยนไปซื้อเครื่องคิดเลขที่อีกร้านแห่งหนึ่ง แต่การตัดสินใจของคุณในแต่ละกรณีกลับไม่เหมือนกัน เพราะสมองของเราถนัดที่จะเปรียบเทียบราคาสิ่งของต่างๆว่าถูกหรือแพง โดยเปรียบเทียบเป็นร้อยละของราคาเดิม เราไม่ถนัดที่จะเปรียบเทียบราคาสิ่งของต่างๆ เป็นจำนวนเงิน เมื่อเครื่องคิดเลขมีราคาสูงขึ้น เราจึงรู้สึกว่าส่วนลดนั้นมีค่าต่อเราน้อยลง เพราะมันมีค่าน้อยลงเมื่อคิดเป็นร้อยละของราคาเครื่องคิดเลขทั้งเครื่อง ซึ่งจะเห็นได้ว่า การรับรู้เรื่องปริมาณของเราก็มีข้อจำกัดไม่ต่างกันกับการรับรู้โดยประสาทสัมผัสทั้งห้าของเรา

...

     นักจิตวิทยาสันนิษฐานว่า สาเหตุที่ธรรมชาติสร้างให้เรารับรู้สิ่งต่างๆโดยอาศัยการเปรียบเทียบเป็นหลักนั้นเป็นเพราะในยุคดึกดำบรรพ์ การแข่งขันคือกฎแห่งการอยู่รอดตามธรรมชาติ สัตว์ที่อ่อนแอย่อมตกเป็นเหยื่อของสัตว์ที่แข็งแรงกว่าเสมอ 

     ดังนั้นถ้าเราต้องการจะมีชีวิตรอด เราต้องแน่ใจว่าเราต้องแข็งแรงกว่าสิ่งมีชีวิตอื่น สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงแต่รายล้อมไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงกว่าย่อมกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่แข็งแรงไปโดยปริยาย เพราะเมื่อต้องแข่งขันกันจะไม่อยู่รอด ด้วยเหตุนี้การเปรียบเทียบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับสิ่งมีชีวิต

...

     ข้อบกพร่องอีกรูปแบบหนึ่งในการรับรู้ของเราคือ เรามีแนวโน้มที่จะคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้าว่า เรากำลังจะรับรู้อะไร ทำให้การรับรู้ของเราบิดเบือนด้วย ลองฟังเรื่องเล่าต่อไปนี้ดู

     พ่อลูกคู่หนึ่งขับรถไปโรงเรียนตอนเช้า ขณะที่ขับรถไปโรงเรียนตอนเช้า ขณะที่รถกำลังจะข้ามสี่แยกแห่งหนึ่ง มีรถสิบล้อคันหนึ่งวิ่งฝ่าสัญญาณไฟมาจากอีกเลนหนึ่งแล้วพุ่งเข้าใส่รถของพ่อลูกอย่างแรง ทำให้พ่อเสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที ส่วนลูกได้รับบาดเจ็บสาหัสและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเวลาต่อมา

     เมื่อลูกไปถึงโรงพยาบาล หมอก็สั่งการให้รีบนำผู้ป่วยเข้าห้องผ่าตัดโดยด่วน เมื่อทุกอย่างในห้องผ่าตัดเตรียมพร้อม ยังไม่ทันทีที่หมอจะลงมีดเพื่อผ่าตัดช่วยชีวิตเด็กคนนั้น หมอก็ต้องร้องด้วยความตกใจเมื่อพบว่า เด็กที่อยู่บนเตียงผ่าตัดคือลูกแท้ๆของเขาเอง

     คนทั่วไปที่ได้ยินเรื่องนี้เป็นครั้งแรกจะรู้สึกงงๆ ว่าเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นอย่างไรกันแน่ เด็กที่อยู่บนเตียงผ่าตัดเป็นลูกของหมอได้อย่างไร ในเมื่อพ่อของเด็กคนนั้นเสียชีวิตไปแล้วในที่เกิดเหตุ? หรือว่าเด็กคนนั้นจะเป็นพี่น้องฝาแฝดที่หายสาบสูญไปนานแล้วของลูกของหมอ 

     คนที่ได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ต่างคิดหาคำตอบอธิบายของเรื่องนี้ไปต่างๆนานา แต่ที่จริงแล้วเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลย เด็กคนนั้นเป็นลูกของหมอจริงๆเพราะหมอคนนั้นคือแม่ของเด็ก และคุณหมอก็คือภรรยาของผู้ชายที่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุนั่นเอง

     เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นถึงกระบวนการรับรู้ที่บกพร่องของเรา สาเหตุที่เรารู้สึกมึนงงกับเรื่องที่ได้ยินเป็นเพราะ เราคิดไปเองว่า หมอผ่าตัดจะต้องเป็นผู้ชาย ทั้งที่ในเรื่องไม่ได้ระบุว่าหมอผ่าตัดคนนั้นเป็นเพศอะไร 

     จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการรับรู้ของเรา สมองของเราจะคิดหรือตัดสินใจอะไรบางอย่างไปด้วยโดยอัตโนมัติ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ที่คุ้นเคยมาแล้วในอดีต ตลอดชีวิตของเรา เรามักพบหมอผ่าตัดที่เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เราจึงคิดไปเองก่อนล่วงหน้าว่า หมอผ่าตัดในเรื่องเป็นเพศชายด้วย ซึ่งทำให้การรับรู้ของเราผิดเพี้ยน คนเราไม่สามารถรับรู้สิ่งใหม่ๆอย่างที่มันเป็นจริงๆโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์การรับรู้ในอดีตของเราได้ การรับรู้ของเราจึงขาดความเป็นกลาง เพราะเต็มไปด้วยการตัดสินใจไปก่อนล่วงหน้าในขณะที่เรากำลังรับรู้


...

      คนที่เข้าใจเรื่องนี้ดีอย่างเช่น พวกนักการตลาด จะรู้จักการให้ความสำคัญกับการสร้าง "ความประทับใจแรก" (First Impression) ให้กับคนอื่นเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่น เวลาที่คุณไปใช้บริการที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง ประสบการณ์ที่คุณได้รับจากร้านค้าแห่งนั้นเป็นครั้งแรกจะส่งผลต่อการรับรู้ของคุณในการไปใช้บริการที่ร้านค้าแห่งนั้นไปตลอดกาล

      ดังนั้นถ้าความประทับใจแรกเป็นความประทับใจที่ดี ก็จะส่งผลในแง่บวกต่อธุรกิจของร้านไปอีกนาน ต่อให้มาตรฐานของร้านตกต่ำลงในเวลาต่อมา คุณก็จะสามารถรับรู้ความบกพร่องเหล่านั้นได้น้อย คุณจะมีข้อแก้ตัวที่ดีเสมอให้กับร้านที่คุณได้ "เทใจ" ให้ไปแล้ว ในทางตรงกันข้าม ถ้าประสบการณ์แรกของคุณที่มีต่อร้านแห่งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี เป็นการยากอย่างยิ่งที่ทางร้านจะเปลี่ยนทัศนคติของคุณใหม่ด้วยการปรับปรุงการบริการของร้านให้ดีขึ้นในภายหลัง สมองของคุณมีแนวโน้มที่จะปรับการรับรู้ใหม่ๆให้สอดคล้องกับความคิดเห็นที่มีอยู่ก่อนแล้ว มากกว่าที่จะปรับความเห็นเดิมไปตามการรับรู้ใหม่

...

      ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของข้อบกพร่องในการรับรู้ของเราเท่านั้น พวกเรายังมีข้อบกพร่องในการรับรู้ในรูปแบบอื่นๆอีกมากมาย ครั้งต่อไปที่คุณยังรู้สึกมั่นใจในการรับรู้ของคุณมากๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม โปรดอย่าลืมว่า การรับรู้ของคุณนั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัดที่ทั้งคุณรู้และไม่รู้ตัวมาก่อน คุณจึงไม่อาจเชื่อถือการรับรู้ของคุณเองได้ทั้งหมด


Cr. เรื่องของคน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น