วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558

7 หลุมพรางเวลา (7 Time Traps)



     จากหนังสือเรื่อง Time Traps แต่งโดย Todd Duncan เป็นเรื่องเกี่ยวกับ พฤติกรรมในการทำงาน ที่เผาผลาญเวลาโดยไม่จำเป็น เพื่อประหยัดเวลาที่มีค่าในชีวิตดังนี้


1. การสร้างภาพให้ตัวเอง (Identity trap)

      การสร้างภาพในที่นี้คือ การทำตัวยุ่งอยู่ตลอดเวลา ขยันขันแข็ง ทุ่มเทให้กับการทำงานทุกวินาทีจนแทบจะไม่มีเวลาว่าง แม้แต่เวลาทานอาหาร ก็ต้องคุยเรื่องงาน กลับบ้านก็เอางานกลับไปทำ พฤติกรรมดังกล่าวดูผิวเผินอาจจะเป็นเรื่องดี แต่สิ่งเหล่านี้จะเป็นการสร้าง ความอึดอัด ความกระวนกระวายใจ ความเร่งรีบ และความตึงเครียดให้สั่งสมอยู่ในจิตใจโดยไม่รู้ตัว เหมือนลากโซ่ตรวนติดตามตัวไปตลอดเวลา

      สุดท้ายมักจบลงที่คำว่า ทำงานไม่ทัน ทำงานไม่เสร็จ ทำงานไม่ดี เพราะความกังวลที่สะสมในจิตใจเป็นตัวบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน เมื่อไม่มีผลงาน ก็เกิดความเครียด ความกังวลใจวนเวียนเป็นวัฏจักรไม่มีที่สิ้นสุด และนอกจากนั้น การสร้างภาพว่าเป็นคนที่มีงานรัดตัวนั้น อาจจะเป็นการโกหกตัวเอง เพื่อหนีความจริง เพราะรู้ตัวดีว่า ตนเองไม่มีผลงาน

วิธีทางแก้ไข
      รู้ว่าจุดไหนคือเพียงพอแล้ว และเลือกทำแต่สิ่งที่สำคัญ และ สร้างผลประโยชน์แก่องค์กรมากที่สุด บอกตัวเองว่า ชีวิตนี้ไม่ได้เกิดมาเพื่อทำงานอย่างเดียว บอกตัวเองว่า การใช้เวลาในแต่ละวันจะต้องช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่าแคร์สายตาของผู้อื่นมากนัก แต่ให้รู้ตัวว่าขณะนี้ตนเองกำลังทำอะไรและทำเพื่ออะไร


2. ระบบงานในองค์กร (Organization trap)

      ในที่นี้คือการตอบอีเมล ตอบจดหมาย หรือรับโทรศัพท์ เป็นต้น งานดังกล่าวเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เปรียบเหมือนการพายเรือในกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก และถึงแม้ว่าจะหยุดกระแสน้ำไม่ได้

      วิธีชะลอความแรงของกระแสน้ำได้โดยการสร้างเขื่อน มีด้วยกัน 4 วิธี ดังนี้

      1. หยุดทุกกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น
    • คุยโทรศัพท์ในเรื่องสัพเพเหระกับเพื่อนฝูง 
    • ตอบอีเมลล์ที่ไม่เร่งด่วน หรือเล่นอินเตอร์เน็ต 
      2. ลงมือทำในสิ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับองค์กร
      3. ประเมินตัวเองว่าสามารถหยุดกิจกรรมที่ไร้ประโยชน์ได้จริงหรือไม่?
      4. ประเมินตัวเองว่าได้ลงมือทำสิ่งที่มีประโยชน์ต่อองค์กรตามที่คิดไว้บ้างหรือไม่? หรือทำแล้วมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง?


3. การชอบทำงานทุกอย่างด้วยตนเอง (Control trap)

     คนที่เลือกทำงานเองทั้งหมด มีเหตุผลอยู่ 4 แบบ คือ
  1. Ego สูงไม่ไว้ใจใคร คิดว่าตัวเองเก่งที่สุด
  2. ไม่มั่นใจในความสามารถของตนเองกลัวคนอื่น จะดูถูกดูแคลน จึงเลือกที่จะทำเองทั้งหมด
  3. คิดแบบตื้น ๆ ว่าทำเองก็ได้ ไม่ต้องไปพึ่งใคร
  4. เป็นนิสัยส่วนตัว
     การทำงานด้วยตัวเองทั้งหมดเป็นการใช้เวลาไปโดยเปล่าประโยชน์แทนที่จะเอาเวลาไปสร้างผลงานอย่างอื่นที่สำคัญมากกว่า และยังเป็นการแสดงถึง การขาดความสามารถในการทำงานเป็นทีมด้วย

     สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการรู้จักกระจายงานไปให้ผู้ร่วมงานหรือลูกน้องทำบ้าง และควรหมั่นเข้าหาหัวหน้าให้ท่านชี้นำแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างผลงานแก่องค์กร เพื่อประหยัดเวลาในการลองผิดลองถูก


4. เทคโนโลยีสมัยใหม่ (Technology trap)

      ในที่นี้คือการเสียเวลากับการรับโทรศัพท์ เล่นอินเตอร์เน็ต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รุ่นใหม่ ๆ ที่จะต้องเสียเวลากับการ ทดลองใช้เสียเวลาอ่านคู่มือ

      ดังนั้น การให้ผู้ที่เคยใช้เครื่องดังกล่าวมาสาธิตวิธีการใช้จะเป็นการประหยัดเวลา และสะดวกกว่าการศึกษาด้วยตนเอง นอกจากนั้น การใช้อุปกรณ์ที่ธรรมดาไม่ต้อง Hi-Tech มากนัก จะประหยัดเวลามากกว่า และได้ประโยชน์เหมือนกัน เช่น การจดบันทึกข้อมูลในสมุดย่อมรวดเร็วกว่าการคีย์ข้อมูลลงในอิเล็กทรอนิกส์ไดอารี่


5. การพยายามสร้างผลงานที่มากเกินไป (Quota trap)

      ในที่นี้คือการพยายามสร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ โดยจำแนกประเภทของลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยงและที่ควรรักษาไว้ ดังนี้

      กลุ่มลูกค้าที่ควรหลีกเลี่ยง
  • จุกจิกและซื้อสินค้าน้อย
  • จุกจิกแต่ก็ซื้อสินค้ามาก ประเภทนี้ต้องหลีกเลี่ยงเพราะทำให้เราเสียเวลามากจนเกินไป

      กลุ่มลูกค้าที่ควรรักษาไว้
  • ซื้อมาก ไม่เรื่องมากและช่วยแนะนำคนอื่นมาซื้อสินค้าเรา
  • ซื้อน้อย แต่ไม่เรื่องมากและชอบสินค้าของเรา กลุ่มนี้ควรรักษาไว้เพราะเมื่อมีโอกาสลูกค้ากลุ่มนี้จะซื้อสินค้าของเราอีกอย่างแน่นอน


6. การกลัวความผิดพลาด (Failure trap)

     คือ การไม่กล้าเสนอผลงานมากนักเพราะกลัวจะผิดพลาด ส่งผลให้เวลาเสนอผลงานในที่ประชุม จะไม่มั่นใจและเสียเวลามาก เพราะมีแต่ความหวาดวิตกอยู่ตลอดเวลา

     ทางแก้ คือ
  • ให้ตั้งเป้าหมายให้สูงไว้ก่อน 
  • ต้องรู้จักเลือกทำงานที่สำคัญและสร้างประโยชน์ให้องค์กร

7. ค่านิยมของสังคม (Party trap)

      หลุมพรางสุดท้ายในที่นี้ คือ การเห่อเหิมไปตามค่านิยมของสังคม เช่น ทำงานหนักเพื่อเก็บเงินซื้อรถรุ่นใหม่ มือถือรุ่นล่าสุด หรือบ้านราคา หลายสิบล้าน เป็นต้น เหล่านี้เป็นความคิดที่ผิด เพราะชีวิตที่แท้จริงมีหลายมิติเกินกว่าเรื่องวัตถุ

      คุณภาพชีวิตที่ดีจะต้องประกอบด้วย การมีสุขภาพที่ดี การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง การมีโลกทัศน์ที่กว้างไกล การสร้างประโยชน์กลับคืนสู่สังคม และมีเวลาเหลือพอ ที่จะไปทำสิ่งต่างๆ ที่ในใจลึกๆ อยากจะทำ

Cr. drboonchai.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น