วันพุธที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2558

3 เทคนิคฝึกสมองให้โฟกัสงาน


     การมีสมาธิทุ่มเทให้กับการทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ หรือการ Focus ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรสักอย่าง มีสิ่งหนึ่งที่คุณต้องพึงตระหนัก นั่นคือ คุณต้องรู้จักว่า คุณจะใช้ศักยภาพหรือสมาธิที่มีอยู่จำกัดหรือมีมากที่สุด แปรเป็นประสิทธิผลหรือประโยชน์คุณค่ามากที่สุดต่อสิ่งที่คุณลงแรงทุ่มให้กับมัน

     ในบทความนี้ จึงนำเสนอวิธีฝึกสมองให้โฟกัสกับงาน ทั้งหมด 3 เทคนิคในรูปแบบที่สั้นและกระชับ เพื่อให้คุณผู้อ่านหรือชาว Blogger สามารถอ่าน ศึกษา และนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย ซึ่งทั้ง 3 เทคนิคมีดังนี้

1. ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ก่อน

     โดยปกติแล้วเรามักจะเริ่มต้นวันด้วยการทำงานง่าย ๆ อย่างเช่น ลบอีเมล หรือจัดตารางนัดหมายก่อน สมมติว่าใช้เวลาไป 1 ชั่วโมง แสดงว่า คุณอาจใช้พลังงานไปแล้ว 10 เปอร์เซ็นต์ จาก 100 เปอร์เซ็นต์ ที่คุณมีในแต่ละวัน ต่อมาเมื่อคุณเริ่มต้นงานที่ต้องใช้สมองมาก จึงกลายเป็นว่า คุณทำมันตอนที่คุณมีพลังเพียง 90 เปอร์เซ็นต์

     ดังนั้น หากเปลี่ยนลำดับการทำงานเสียใหม่ เริ่มต้นวันด้วยงานที่ต้องใช้สมองมาก ๆ หรืองานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ก่อน เพื่อที่คุณจะได้ใช้พลังสมองที่คุณมีอยู่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ไปกับงานที่จำเป็นมากที่สุด จากนั้นค่อยทำงานที่ง่ายขึ้นเป็นลำดับต่อไป

2. สังเกตว่าเวลาไหนที่คุณมีสมาธิที่สุด

     จากการศึกษาของ David Rock ผู้เขียนหนังสือ “Your Brain at Work” พบว่าโดยเฉลี่ยเราสามารถโฟกัสกับสิ่งต่าง ๆ ได้เพียง 6 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น โดยช่วงเวลาที่เราจะมีสมาธิมากที่สุดคือช่วงเช้า และช่วงดึก นอกจากนั้น ยังพบอีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของความคิดเจ๋ง ๆ มักเกิดขึ้นเวลาที่อยู่นอกออฟฟิศ

     สิ่งที่คุณควรทำ คือ สังเกตตนเองว่าที่ไหน และเมื่อไรที่คุณจะมีสมาธิมากที่สุด แล้วยกงานที่ทำยากที่สุดไปไว้ในช่วงเวลานั้นแทน

3. ฝึกสมองเหมือนฝึกกล้ามเนื้ออย่างหนึ่ง

     ทุกวันนี้การทำงานหลายอย่างพร้อมกันเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว และสมองของเราก็รู้จักปรับตัวได้รวดเร็ว ทำให้เราสูญเสียความสามารถในการโฟกัสกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งไป

     เราจำเป็นต้องฝึกการโฟกัสเสียใหม่ โดยกำจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิทั้งหลายออกไป และตั้งใจทำงานทีละอย่าง ค่อย ๆ เริ่มจาก 5 นาที และเพิ่มเวลาในนานขึ้น เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มวอกแวก เสียสมาธิ ให้กลับมาโฟกัสกับงานตรงหน้าทันทีที่รู้ตัว คล้าย ๆ กับเวลาที่เราออกกำลังกาย เราจำเป็นต้องโฟกัสกล้ามเนื้อส่วนที่เรากำลังฝึกนั่นเอง


Via Trans: Lean Supply Chain by TMB
Cr. www.entrepreneur.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น