วันจันทร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2558

รับฟังอย่างไร? ให้มีประสิทธิภาพ


     การ "ฟัง" นั้นมีความหมายกว่าคำว่า "ได้ยิน" มาก เพราะหมายถึงการแปลรหัสที่แฝงอยู่ในภาษาที่ใช้ แปลความหมายของภาษากายที่มิได้กล่าวออกมาเป็นคำพูด ทำความคลุมเครือให้กระจ่างชัดขึ้นและมีความเข้าใจอยู่ในทัศนคติของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างดียิ่ง ดูจะเป็นกิจกรรมที่คุณสละเวลาให้กับมันมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ

     ก่อนอื่นคุณจะต้องเข้าใจว่า คนเรานั้นใช้เวลาในการทำงานถึง 70% เพื่อสื่อความเข้าใจ และการ "รับฟัง" ใช้ถึง 45% ของเวลาดังกล่าวนั้น ส่วนการพูดในอัตราเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลา 30% การอ่าน 16% และการเขียน 9%

     สิ่งหนึ่งที่อยากบอกให้คุณพึงระลึกไว้ก็คือองค์ประกอบสำคัญในชีวิตคนเรานั้นส่วนใหญ่แล้ว ขึ้นอยู่กับการรับฟังอย่างมีประสิทธิภาพ

     การรับฟังที่ดีประกอบขึ้นด้วยหลัก 4 ประการ คือ ความตั้งใจ การติดตามและการให้สนับสนุน สะท้อนภาพสิ่งที่รับฟังและการที่จะรับฟังต่อไป

     การที่จะกระทำตนเป็น "นักฟังที่ดี" นั้นจะต้องรู้จักปรับปรุงคุณสมบัติแต่ละข้อให้ดีขึ้นด้วย


เพราะเหตุใด? คนเราจึงไม่ใคร่เป็นนักฟังที่ดี

     การที่คนเราไม่ใคร่เป็นนักฟังที่ดีนั้น ในสถานปกติมันมีปัจจัยที่เขามาส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว ว่าแต่มันมีสิ่งต่อไปนี้อยู่ในตัวคุณบ้างหรือไม่?
  1. คุณไม่ได้รับการฝึกให้เป็นนักฟังที่ดีมาก่อน
  2. คุณมิได้เข้าพบบุคคลที่กำลังพูดด้วยอย่างเหมาะสม
  3. ถูกเบี่ยงเบนความสนใจ
  4. กระบวนการของการรับฟังได้รับการรบกวน เพราะคุณมัวแต่ตีความและตัดสินใจคำพูดของอีกฝ่ายหนึ่งอยู่
  5. คุณมักจะขัดจังหวะการพูดของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ
  6. คุณมักจะมุ่งอยู่กับการเตรียมหาคำตอบของอีกฝ่ายหนึ่งกำลังพูดอยู่
  7. คุณไม่ทันได้ยินประโยคที่ผู้พูดซ่อนเร้นความหมายไว้อย่างลึกซึ้ง
  8. คุณจะรับฟังแต่เฉพาะในสิ่งที่ต้องการจะฟัง มากกว่าจะให้ความสนใจในเรื่องทั้งหมด

การฝึกตนให้เกิดความเชี่ยวชาญในการรับฟัง

     การฝึกตนเองให้เป็นนักฟังที่ดีนั้น ความสำคัญอยู่ตรงที่ว่า คุณมีพื้นฐานแห่งสัมพันธภาพ มีความสนใจในทัศนคติและมีความเปิดเผยจริงใจต่อผู้พูดอย่างดี

     ถ้าคุณสามารถปรับปรุงพฤติกรรมต่อไปนี้ได้ คุณย่อมสามารถสื่อความเข้าใจกับผู้อื่นได้โดยง่าย
  1. ให้ความสำคัญกับผู้พูดเหนือบุคคลอื่น
  2. ตั้งใจฟังในสิ่งที่เขากำลังพูด แม้คุณจะไม่เห็นด้วยหรือไม่ใคร่สนใจเท่าไรนัก
  3. โน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อให้เขามองเห็นความตั้งใจในการรับฟังของคุณ
  4. มองหน้าและประสานสายตากับผู้พูด
  5. สร้างเวลาและโอกาสแก่ผู้พูด
  6. สนองตอบคำพูดของเขาอย่างเหมาะสม
  7. สังเกตภาษากายทั้งของตนเองและผู้พูด แต่อย่าตกเป็นเหยื่อของมัน
  8. หลีกเลี่ยงการเบนความสนใจ

การติดตามและการให้สนับสนุน

     หน้าที่อันสำคัญของผู้ฟัง คือ ให้ทั้งเวลาและโอกาสแก่ผู้พูด เพื่อเล่าเรื่องของเขา การติดตามคำพูดและให้การสนับสนุน มีดังต่อไปนี้
  1. เปิดประตู (ใจ) ให้กว้าง
  2. ให้กำลังใจ
  3. ตั้งใจฟังอย่างสงบ
  4. ตั้งคำถามอย่างเปิดเผย
     การเปิดประตู (ใจ) ให้กว้างนั้น หมายถึงการเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายหนึ่งพูด เพราะคนเราทุกคนมักจะแสดงท่าทีให้เห็นว่าตนทีสิ่งที่จะต้องสื่อความเข้าใจ และนักฟังที่ดีก็จะเปิดประตูให้กว้างออก เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้พูดในสิ่งที่ต้องการออกมา ซึ่งมีเทคนิคดังนี้
  1. อธิบายภาษากายที่ปรากฎในตัวเขา
  2. เชื้อเชิญให้พูด
  3. รักษาความสงบ ให้เขามีเวลาที่จะตัดสินว่าต้องสนองตอบหรือไม่
  4. ให้ความสนใจด้วยท่านั่งที่แสดงออก ประสานสายตาและแสดงภาษากายอื่นที่บอกให้รู้ถึงความพร้อมที่จะรับฟัง
     การให้กำลังใจนั้นเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้ผู้พูดสามารถดำเนินเรื่องต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นการยืนยันแก่ผู้พูดด้วยว่าเขาเป็นจุดศูนย์รวมแห่งความสนใจ

     การให้กำลังใจอาจจะกระทำได้ด้วยการใช้คำพูดง่ายๆ อาทิ

     "พูดต่อไปเลยครับ หรือ ผมเข้าใจ... เชิญพูดต่อได้เลย"

     เมื่อเขาพูดมาถึงเรื่องสำคัญ คุณอาจทวนคำพูดในช่วงสุดท้ายของเขาสักประโยคหรือสองประโยค ซึ่งเท่ากับเป็นการยืนยันในความสนใจ และสร้างกำลังใจให้กับผู้พูดมากขึ้น


การรับฟังอย่างไตร่ตรอง

     การตั้งคำถามแบบ "เปิด" เท่ากับเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้พูดสำรวจความคิดความรู้สึกและประสบการณ์ที่ผ่านมา มักจะขึ้นต้นด้วยคำว่า "อะไร" และ "อย่างไร"

     ยกตัวอย่างเช่น  "คุณกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ"

     ซึ่งคำถามเช่นนี้จะให้ผลดีกว่าการตั้งคำถามว่า

     "คุณอยากจะพูดถึงงานที่ทำบ้างไหม"

     เพราะคำถามแบบนี้ ผู้ถูกถามจะตอบได้แค่ "รับ" และ "ปฏิเสธ" เท่านั้น คุณอาจจะใช้ได้แต่เฉพาะเรื่องที่ต้องการคำตอบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

     การติดตามรับฟังด้วยความตั้งใจเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการฟังแต่ผู้พูดก็ยังต้องการความเข้าใจด้วย คุณสามารถจะ "สื่อ" ให้เขาเห็นถึงความเข้าใจได้ ด้วยการใช้หลัก 4 ประการต่อไปนี้

1. การย้ำความสำคัญ
      เป็นการตรวจสอบเพื่อความเข้าใจในเนื้อหาของสิ่งที่ผู้พูดได้กล่าวออกมา ผู้ฟังจะสรุปใจความอย่างย่นย่อ แต่รัดกุมได้ใจความผู้ฟัง โดยเฉพาะจุดที่เป็นหัวใจของเนื้อหาโดยหยิบยกเอาคำพูดของเขามากล่าวย้ำ

2. การสะท้อนความรู้สึกออกมาให้เห็น
      การสะท้อนความรู้สึกนี้จะเป็นประหนึ่งกระจกเงาที่จะสะท้อนให้ผู้พูดได้เห็นอารมณ์กับความรู้สึกตนเองได้ผ่านพบมาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น
"คุณก็เลยโมโห..." หรือ "มันก็น่าโมโหจริงๆเสียด้วย..."

3. สะท้อนคำพูดด้วยการแปลความหมาย
      การสะท้อนคำพูดด้วยการแปลความหมายนั้น อีกนัยหนึ่งก็คือการแสดงออกถึงความเห็นอกเห็นใจ เพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ฟังมีความรู้สึกร่วมกับผู้พูดด้วย บ่อยครั้งที่คุณมักจะพบการสนองตอบตามรูปแบบอาทิ

"การที่คุณรู้สึก... เพราะ..."

      ไม่ว่าคุณจะใช้ในการสนองตอบตามรูปแบบหรือไม่ มันมิได้มีความสำคัญแต่อย่างใดเลยตราบเท่าที่คุณสามารถแสดงให้เขาเห็นว่า คุณมีความเข้าใจในความรู้สึกของเขาและเข้าใจถึงสาเหตุด้วย

4. สรุปข้อมูลจากสิ่งที่ฟัง
       คือการสรุปเนื้อหาสาระรวมไปถึงความรู้สึกของผู้พูดที่ได้แสดงออกมาตลอดเวลาการสนทนาที่ยาวนาน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ผู้พูดสามารถเรียบเรียงข้อมูลที่ตนข้องเกี่ยวและแยกแยะข้อมูลเหล่านั้นไว้ด้วย บ่อยครั้งที่ประโยคคำพูดจะเป็นไปในทำนองว่า

       "เท่าที่คุณเล่ามาทั้งหมดก็คือ คุณให้ความสนใจกับ X แต่ขณะเดียวกันก็เกี่ยวข้องอยู่กับ Y และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบปะกับ Z ซึ่งตลอดเวลา คุณมีแต่ความขุ่นเคือง..."


       คุณสมบัติต่างๆเหล่านี้ ถ้าเอามาใช้รวมๆกันไปแล้วจะเปลี่ยนความสามารถในการรับฟังและยังช่วยให้เกิดความเข้าใจดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งหมายถึงว่า เส้นทางของการสื่อความเข้าใจนั้นเป็นไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคุณมีพื้นฐานที่มั่นคงรองรับการที่จะ "สื่อ" หรือถ่ายทอดความเข้าใจจากคุณไปสู่ผู้อื่น

       อย่างไรก็ตาม คุณยังสามารถจะสร้างความก้าวหน้าให้กับตนเองโดยนำข้อเสนอแนะต่อไปนี้ไปใช้อีกด้วย
  1. อย่า "แสร้ง" เป็นว่าเข้าใจ
  2. มุ่งมั่นกับการจับสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นและปรับปรุงความรู้สึกอ่อนไหวของคุณ
  3. สร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจเข้าไว้ในน้ำเสียงให้เข้ากับอารมณ์กับความรู้สึกของผู้พูด
  4. เมื่อสะท้อนความคิดจะต้องสะท้อนอย่างหนักแน่น มิใช่คลุมเครือ
  5. อย่าตอบคำถามของผู้พูด แต่พยายามสะท้อนความรู้สึกที่มีอยู่ในคำถามนั้น
  6. อย่าบอกผู้พูดว่าคุณรู้ว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร... ทั้งนี้เพราะไม่เคยมีใครที่จะรู้ซึ้งถึงความรู้สึกของใครได้ดีไปกว่าตนเอง

ข้อควรจำ

       ถ้าขณะรับฟังอยู่นั้น จิตใจของคุณเลื่อนลอยครุ่นคิดไปถึงเรื่องอื่น จงเตือนตัวเองว่า "นี่เป็นเวลาของเขา" เพื่อดึงความสนใจของคุณกลับคืนมา เนื่องจาก 85% ของการสื่อความเข้าใจจะเป็นการแสดงออกด้วยภาษากาย เพราะฉะนั้นจงให้ความสนใจกับภาษากายของอีกฝ่ายให้มาก

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษากาย 

       ประการสุดท้าย จงจำไว้ว่า ถ้าคุณสัมผัสความรู้สึกในโลกของผู้พูดอย่างแท้จริง คุณสามารถตอบสนองเพื่อเสริมความเข้าใจที่ผู้พูดมีต่อตนเองและปัญหาที่เขากำลังประสบอยู่ ซึ่งการตอบสนองวิธีนี้จะนำมาใช้ได้เพียงเพื่อช่วยให้ผู้พูดมีความเข้าใจในสถานการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ได้ดีขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น สามารถมองเห็นภาพสะท้อนของสิ่งที่ตนปฏิบัติลงไปและมีความรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากผู้ฟังอย่างแท้จริง

       การสนองตอบในลักษณะนี้สร้างขึ้นจากสิ่งที่ผู้พูดกล่าวออกมาเอง แต่ผ่านออกมาทางแรงดลใจที่ผู้พูดได้เผยให้เห็นถึงเจตนาของตน ซึ่งอาจจะล้ำหน้ากระบวนการไปบ้าง แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น