วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ข้อคิดจากเรื่องเล่า: ให้คนขับรถตอบ


     ไอน์สไตน์ตระเวนแสดงปาฐกถาเรื่องทฤษฎีสัมพันธภาพตามมหาวิทยาลัยต่างๆหลายวันต่อเนื่องกัน จนเหน็ดเหนื่อยอย่างยิ่ง กระทั่งวันหนึ่งระหว่างทางไปมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไอน์สไตน์รู้สึกเวียนศีรษะมาก ถึงเดินทางไปได้ก็คงแสดงปาฐกถาไม่ได้ นี่ควรจะทำอย่างไรดี? ไอน์สไตน์ร้อนใจยิ่ง

     ตอนนี้เอง คนขับรถของไอน์สไตน์ หนุ่มน้อยผู้มีไหวพริบ ขันอาสาด้วยความกล้าว่า

     "อาจารย์ ปาฐกถาของท่าน ผมฟังมากกว่า 30 รอบแล้ว แทบจะท่องได้เลยทีเดียว ถ้าไม่เชื่อ ท่านก็ทดสอบดู การแสดงปาฐกถาในวันนี้ ผมขอเหนื่อยแทนท่านเอง! อีกอย่าง คนที่นั่นก็ไม่รู้จักท่าน"

     ไอน์สไตน์อนุญาต

     คนขับรถไม่ได้คุยโม้เลย เขาแสดงปาฐกถาบนเวทีได้อย่างยอดเยี่ยม พอแสดงปาฐกถาเสร็จ ผู้ฟังตบมือให้เสียงดังสนั่นหวั่นไหว

     ขณะที่คนขับรถกำลังจะก้าวลงจากเวที มีศาสตราจารย์ท่านหนึ่งเดินเข้ามา ถามปัญหาที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ขอให้ดอกเตอร์ "ไอน์สไตน์" ช่วยตอบ คนขับรถไม่เข้าใจเรื่องที่ศาสตราจารย์ถามแม้แต่น้อย งงอยู่ครู่หนึ่ง ก็รีบยิ้มพูดว่า

     "ปัญหานี้ง่ายมาก แม้แต่คนขับรถของผมก็ตอบได้ ถ้าไม่เชื่อ ลองถามเขาดู" พูดจบก็ชี้ไปที่ไอน์สไตน์ ซึ่งนั่งฟัง พักผ่อนอยู่แถวหน้าสุด

     ไอน์สไตน์ตอบแค่ไม่กี่คำ ก็อธิบายปัญหาที่ถามมาได้อย่างลึกซึ้งและชัดเจน ศาสตราจารย์ถึงกับอึ้ง


เรื่องนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่?
  1. คนขับรถหนุ่มน้อยคนนี้ เป็นคนตั้งใจจริง เขาติดตามไอน์สไตน์ไปแสดงปาฐกถาหลายสิบครั้ง ไม่เพียงทำหน้าที่คนขับรถ ยังเข้าไปฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ จนจำได้อย่างแม่นยำและเข้าใจระดับหนึ่ง มิเช่นนั้น คงไม่สามารถแสดงปาฐกถาที่ยอดเยี่ยมแทนเป็นแน่ เพราะการแสดงปาฐกถา ต้องใส่อารมณ์ความรู้สึกเข้าไป ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจอีกด้วย มิใช่การท่องจำตายตัวแบบง่ายๆ อีกอย่างได้รับการถ่ายทอดอย่างใกล้ชิด ก็ราวกับมีพรสวรรค์
  2. คนขับรถคนนี้ เป็นคนมีไหวพริบเป็นเลิศ พลิกแพลงได้อย่างทันกาล ไม่ร้อนรน ไม่สับสนวุ่นวาย ทำเท็จแต่ไม่เท็จ ทั้งแยบคายและแนบเนียน

Cr. เจียระไนปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น