วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

Idea, Concept, Theme & Genre


       บทความที่จะได้คุณผู้อ่านหรือชาว Blogger ได้อ่านต่อไปนี้ ผมคัดลอกเนื้อหาบางส่วนในบทที่สองแต่เป็นเนื้อหาส่วนแรกจากหนังสือที่ชื่อว่า เขียนไปให้สุดฝัน ซึ่งเป็นหนังสือแฉ (Share) ประสบการณ์การเขียนนิยายของคุณวินทร์ เลียววาริณ รวบรวมเทคนิคและประสบการณ์การเขียนช่วงหลายสิบปีของคุณวินทร์ ถ่ายทอดผ่านหนังสือเล่มนี้

---

-1-

      คนที่ทำงานสายออกแบบและนักเขียนย่อมคุ้นหูกับคำสี่คำนี้มาก่อน

      Idea, Concept, Theme และ Genre

      และคนจำนวนมากมักใช้คำทั้งสี่คำนี้แทนกันหรือสลับกัน
      
      ความจริงคำศัพท์ต่างๆเหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อคุณภาพของนักเขียนแต่ประการใด แต่หากได้เข้าใจมันชัดเจน ก็อาจช่วยไม่ให้หลงทางเวลาเขียนหนังสือ

       แล้วอะไรคือความแตกต่างของทั้งสี่คำนี้ Idea, Concept, Theme และ Genre?

       จะเข้าใจความแตกต่างของคำเหล่านี้ ลองเปรียบเทียบกับงานสถาปัตยกรรม มนุษย์สร้างบ้านเรือนอาคารต่างๆมากมาย เช่น บ้าน ตึกแถว อาคารสำนักงาน พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน ประเภทอาคารต่างๆก็คือ Genre หมายถึงประเภทหรือตระกูลของนักเขียน

       genre ของงานเขียนมีมากมาย เช่น แนวผจญภัย นิยายวิทยาศาสตร์หรือ SciFi นิยายแฟนตาซี นิทาน วรรณกรรม บทกวี เรียงความ บทความเสริมกำลังใจ อัตชีวประวัติ

       genre ของงานเขียนแต่ละชนิดมีคุณลักษณะแตกต่างกัน มีประเภทใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ บ่อยครั้งเกิดจากลูกผสมของ genre สองถึงสามประเภท เช่น Kill Bill หรือ เมย์ไหน ไฟแรงเฟร่อ บางพล็อตย่อยเป็นส่วนผสมของแอนิเมชัน + หนัง

       หากนักเขียนกล้ามองออกจากกล่อง ก็จะพบทางเลือกต่างๆมากมาย ไม่เคยมีกฎการเขียนหนังสือข้อใดที่ห้ามผสมพันธ์ุต่างสายงาน เพราะศิลปะไม่มีกรอบบังคับ

-2-

       สมมติว่าในบรรดาบ้าน ตึกแถว อาคารสำนักงาน พิพิธภัณฑ์ โรงเรียน คุณเลือกที่จะสร้างบ้าน ก็ต้องรู้ก่อนว่าจะสร้างบ้านสไตล์ไหน ถ้าไม่รู่ คนงานก่อสร้างก็ทำไม่ถูก มีสไตล์บ้านชนิดต่างๆมากมาย เช่น บ้านแบบไทย จีน ญี่ปุ่น ตะวันตก สเปน เอสกิโม เป็นต้น

       สไตล์ บ้านเหล่านี้ก็คือ ธีม (theme) ในงานเขียนนั่นเอง

       ธีม คือ สาระแก่นสารของเรื่อง หรือ บทเรียนของเรื่อง (เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...) แต่บ่อยครั้งก็ใช้คำว่า ธีม สลับกับคำว่า คอนเซปต์ (concept) หรือ ไอเดีย (idea)

       สามคำนี้ใช้คล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน และหลายคนก็ให้คำจำกัดความไม่เหมือนกัน สำหรับผม ไอเดีย คือ ความคิดลอยๆ คุณคิดจะสร้างบ้าน คิดแต่งทำนองเพลงใหม่ ก็ถือว่าเป็นไอเดียทั้งหมด มันเป็นคำกลางๆที่ใครๆก็ใช้ได้

       ดังนั้นจึงไม่ผิดหากพูดว่า "ฉันมีไอเดียเกี่ยวกับคอนเซปต์ของงานนี้แล้ว" หรือ "ฉันได้ไอเดียเกี่ยวกับธีมของงานนี้แล้ว" เพราะทั้งคอนเซปต์และธีมต่างก็เป็นไอเดีย (ความคิด) ก็เหลือสองคำที่มักสับสนกันอยู่: concept กับ theme

       concept คือแนวคิดหลักของเรื่อง เป็นแม่บทของงาน เมื่อได้มันมาแล้วค่อยใช้ธีมเพื่อทำให้มันเป็นรูปร่าง พูดแบบง่ายๆ เช่น concept คือ รัฐธรรมนูญ ส่วน theme เป็นกฎหมายฉบับต่างๆ

       ลองเปรียบเทียบกับบ้านอีกครั้ง

genre คือ ประเภทอาคาร ในที่นี้ เลือก บ้าน ไม่ใช่ตึกแถวหรือคอนโดมิเนียม
concept คือ แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างบ้าน อาจสร้างบ้านที่ทำจากเศษขยะล้วนๆก็ได้
theme คือ สไตล์ของบ้าน

       นักเขียนสามารถเสนอ concept เดียวกันด้วย theme ต่างกัน เช่น
เรื่อง Inception ของ Christopher Nolan

       Concept คือ การปรับความฝันของคน แต่ concept เดียวกันนี้อาจใช้เป็น theme ฆาตกรรม เช่น ตัวละครหลักไปสืบสวนฆาตกรรมโดยใช้ความฝันฆ่าคน หรืออาจเป็น theme เป็นความรัก เช่น ตัวละครหลักได้รับว่าจ้างจากหนุ่มคนหนึ่งทำให้ผู้หญิงที่เขาหมายปองหลงรักด้วยวิธีการฝัน ซึ่งในกรณีนี้ Nolan ตอนแรกเขาตั้งใจใช้ theme สยองขวัญแต่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นแนวโจรกรรม

เรื่อง Jurassic Park

      Concept คือ การโคลนไดโนเสาร์ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง
ถ้าให้มนุษย์สร้างสวนสนุกไดโนเสาร์แล้วมีไดโนเสาร์ออกมาไล่กินคน นี่คือ theme แบบผจญภัย
ถ้าให้ไดโนเสาร์ไปพังโรงปฏิกรณ์ทำลายเมืองจนโลกพินาศ นี่คือ theme ทำลายล้างโลก
ถ้าให้เป็นรักสามเศร้าของไดโนเสาร์สามตัว ก็เป็น theme แบบความรัก

      จะเห็นว่า concept เดียวกัน สามารถมีทิศทางได้มากมายแล้วแต่นักเขียนต้องการ ดังนั้นนักเขียนจึงควรรู้ก่อนว่า อยากเขียนเรื่องด้วย theme ไหน

      บ่อยครั้งใช้คำว่า theme กับ concept แทนกันได้ ตราบใดที่นักเขียนรู้ว่าตนเองกำลังทำงานส่วนที่เป็น concept หรือ theme อยู่ ก็จะไม่ค่อยหลงทาง

-3-

      งานเขียนและภาพยนตร์จำนวนมากเคยสร้างความอัศจรรย์ให้คนอ่านถึงขั้นอุทานว่า "สุดยอด" ขณะที่บางเรื่องก็ธรรมดา ไม่รู้สึกตื่นเต้นอะไร เพราะเคยอ่านหรือดูมาแล้วหลายสิบเรื่อง

      คำว่า concept หมายความถึงแค่ความคิดหลักของเรื่อง ไม่ได้บ่งบอกว่าดีหรือไม่ดี แต่หาก concept นั้นดีมาก แปลกใหม่ ดูแล้วอ้าปากค้างตื่นเต้น เราเรียกมันว่า high-concept มักใช้กับหนัง ส่วนในวงการโฆษณาและวงการเขียน นิยมใช้คำว่า big idea มากกว่า แต่ทั้งสองคำนี้มีความหมายเหมือนกัน ใช้แทนกันได้ หมายถึงความคิดใหม่ สด จดจำง่าย จำได้นาน

      ไอน์สไตน์บอกว่า "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้" เพราะงานสายฟิสกส์ ทฤษฎีที่เขาทำจำเป็นต้องฝัน big idea ก่อนหาหลักการวิทยาศาสตร์มารองรับ เช่นกันก่อนฝันว่าอวกาศที่เราเห็นมีมิติเวลาผสมอยู่ด้วย หรือ แสงเดินทางไม่เป็นเส้นตรง หลังจากนั้นค่อยทดลองหรือพิสูจน์ว่ามันเป็นจริงหรือไม่?

      high concept ไม่เกี่ยวกับความยาก อาจเป็นไอเดียง่ายๆที่ไม่ซับซ้อน แต่แปลกฉีกแนว บ่อยครั้งมาจากวิธีคิดแบบ "What if?"

      อย่างไรก็ตาม high concept ไม่ได้แปลว่า 'เรื่องที่ดี' ้เพราะ high concept หลายเรื่องเขียนได้น่าเบื่อ ขณะที่ concept ธรรมดากลับเขียนได้สนุกได้เช่นกัน

      สภาวะ high concept ของไอเดียหนึ่งอาจถูกลดระดับเป็นแค่ concept เฉยๆ หรือเป็น theme ก็ได้ เพราะความแปลกใหม่ สด ฉีกแนว ในยุคหนึ่ง อาจไม่แปลกใหม่ในอีกยุคหนึ่ง เรื่องแบบนี้มักเกิดขึ้นเสมอ ซึ่งมักเกิดขึ้นจากการใช้มาก เช่น การเดินทางข้ามเวลาผ่าน time machine พล็อตฝาแฝดหรือผิดฝาผิดตัว รวมถึง มนุษย์พิเศษอย่าง superhero ในยุคหนึ่งเป็นเรื่องใหม่ แต่ช่วงหลังๆอย่าง superman, iron man และ batman ทั้งหมดถือว่าเป็นพล็อตเรื่องเดียวกัน ต่างแค่ฉากกับเหตุการณ์ เป็นแนวทาง concept ที่ใครๆก็ใช้ได้

      สมมติว่าถ้านักเขียนทั่วโลกชอบ concept การโคลนไดโนเสาร์ขึ้นมาใหม่ เขียนสัก 500 เรื่อง เมื่อนั้น concept ดังกล่าวก็จะกลายเป็นแนวทางหนึ่งไป กลายเป็น theme ที่เรียกว่า แนวจูราสสิก

      จะเห็นว่าการแบ่งประเภทของงานเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักเขียนจึงไม่ควรยึดติดกับประเภทของเรื่องจนเกินไป เช่น บอกตัวเองว่าจะเขียนเรื่องสยองขวัญ ก็เดินตามแนวทางของเรื่องสยองขวัญตามที่มีคนเขียนมา นี่ทำให้นักเขียนบางส่วนติดกับดักของประเภทงาน นักเขียนสามารถปนงานต่างประเภทเข้ากันใหม่ได้เสมอ ถึงจะเป็นหรือไม่เป็น high concept ก็ต้องการพล็อตเรื่องที่ดีเหมือนกัน เนื่องจากหากคิด high concept ได้แต่ไม่สามารถเขียนพล็อตเรื่องที่ดีได้ก็เปล่าประโยชน์

Cr. เขียนไปให้สุดฝัน - วินทร์ เลียววาริณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น