วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559
อายุ 102 ปี รับปริญญาเอก
สิ่งที่ไม่เป็นธรรมแม้วันเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ยังสามารถแก้ไขได้เสมอว่าในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง การแก้ไขสิ่งผิดให้ถูกต้องไม่มีคำว่าสายเกินไป ตราบที่เท่าสังคมนั้นมีจิตสำนึกในความดี ความงาม และ ความจริง มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กต้องการแก้ไขความผิดในอดีตถึงแม้วันเวลาจะล่วงไปแล้วถึง 80 ปีก็ตาม
เมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน 2015 มหาวิทยาลัยแห่งนี้อนุญาตให้แพทย์หญิงเยอรมันวัย 102 ปีเข้าสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ซึ่งเธอเขียนเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่เมื่อ 80 ปีก่อน (จนอาจารย์ที่ปรึกษาทั้งหมดของเธอไปสวรรค์เรียบร้อยแล้ว) แต่เธอไม่ได้รับอนุญาตให้สอบเพราะมีแม่เป็นยิว
แค่มีแม่เป็นยิวก็ไม่ได้สอบ คนสมัยนี้อาจคิดว่ามันจะอะไรกันหนักกันหนา แต่ในสมัยฮิตเลอร์ครองอำนาจนั้น ผู้ที่ถูกว่าเป็นยิวไม่เพียงไม่ได้สอบ ยังอาจถูกส่งเข้าค่ายกักกันหรือถูกรมแก๊สก็เป็นได้ แต่เธอโชคดีที่อยู่รอดจนได้มา "ล้างแค้น" สอบวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกจนจบได้ในที่สุดเมื่อมีอายุ 102 ปี
ชื่อของเธอ คือ แพทย์หญิงอิงเงเบอร์ก ราพอพอร์ท (Ingeborg Rapoport) ผู้กลายเป็นผู้ได้รับปริญญาเอกที่มีอายุมากที่สุดในโลก เธอเรียนจบแพทย์ในปี 1937 และศึกษาต่อโดยเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องโรคคอตีบ (diphtheria) ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพรุนแรงในขณะนั้น
ฮิตเลอร์ผ่านกฎหมายกลางต่อต้านยิว จากนั้นท้องถิ่นก็ออกกฎหมายตามมาจนมีเทศบัญญัติ กฎเกณฑ์ ระเบียบต่อต้านยิวรวมแล้วนับร้อยฉบับในช่วง ค.ศ. 1933-1939 การต่อต้านรังเกียจยิวเป็นโรคหัวใจของลัทธินาซี ยิวจำนวนมากที่มีการศึกษาและมีเงินจึงอพยพหนีออกนอกประเทศกันจ้าละหวั่น
ครอบครัวของเธอก็เช่นกัน เธออพยพไปสหรัฐอเมริกาและพบสามี มิทยา ราพอพอร์ท (Mitja Rapoport) ซึ่งเป็นยิวอพยพมาจากออสเตรีย ที่สหรัฐอเมริกา เธอเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้งจนได้เป็นกุมารแพทย์
อาจเรียกได้ว่าเธอหนีเสือปะจระเข้ เพราะยุคในทศวรรษ 1950 โจเซฟ แมค์คาร์ธี (Joseph McCarthy) วุฒิสมาชิกอเมริกันปลุกระดมต่อต้านคอมมิวนิสต์ กล่าวหา คุกคาม ทำลายชื่อเสียงผู้คนในที่สาธารณะ จนเรียกยุคนั้นว่ายุคลัทธิแมคคาร์ธี เธอและสามีซึ่งมีแนวคิดเอนเอียงไปทางสังคมนิยมจึงรู้สึกไม่มั่นคง
ทั้งสองตัดสินใจอพยพกลับเยอรมนี แต่ไม่ใช่เยอรมนีตะวันตกซึ่งมีอุดมการณ์ประชาธิปไตย หากเป็นเยอรมนีตะวันออกของสหภาพโซเวียต เธอทำงานในฐานะกุมารแพทย์เป็นเวลายาวนาน เป็นศาสตราจารย์และกุมารแพทย์ที่มีชื่อเสียงของประเทศ เธอเคยได้รับรางวัลระดับชาติสำหรับผลงานในการลดอัตราการตายของเด็กในเยอรมนีตะวันออก
การที่มีแม่เป็นยิว เธอจึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่กฎหมายเยอรมันเรียกว่า Mischling หรือลูกผสมอารยันกับยิว สถานะเช่นนี้ทำให้เธอเสียสิทธิความเป็พลเมืองจนมหาวิทยาลัยฮัมบูร์กจำต้องปฏิเสธการสอบปริญญาเอกขั้นสุดท้ายของเธอในปี 1938
อย่างไรก็ดี อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอเขียนจดหมายเป็นหลักฐานไว้ในปี 1938 ว่าถ้าแม้มีการสอบ เขาจะให้เธอสอบผ่านอย่างไม่มีข้อสงสัย
มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กทราบเหตุผลตอนเธออายุครบ 100 ปีจึงต้องการแก้ไขในสิ่งผิด มีการสอบสวนหาความจริงและในที่สุดก็อนุญาตให้เธอสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ที่ล่าช้าไป 80 ปี
คุณหมอเล่าว่ารู้สึกตื่นเต้นมากที่จะมีศาสตราจารย์สองคนเดินทางมาสอบเธอด้วยวิธีปากเปล่าที่บ้าน เธอติดต่อเพื่อนหมอ เรียนรู้ความก้าวหน้าล่าสุดของโรคคอตีบ พร้อมกับอ่านศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเตรียมสอบอย่างจริงจัง (ขณะอายุ 102 ปี)
สองอาจารย์ผู้สอบให้สัมภาษณ์หลังการสอบว่ารู้สึกประทับใจมากกับความรู้ด้านการแพทย์สมัยใหม่ของเธอ เธอตื่นตัวในวัย 102 ปี และมีความรู้ในเรื่องที่เธอสอบสมกับปริญญาเอกที่ได้รับ กรรมการสอบตัดสินให้เธอได้รับเกรด magna cum laude (เกียรตินิยมอันดับสอง)
สื่อเรียกเธอว่า ดร. ซิลล์ม-ราพอพอร์ท (Sylim-Rapoport) โดยนำเอานามสกุลเก่าของเธอผสมกับนามสกุลของสามีซึ่งเป็๋นนักชีวเคมี ทั้งสองมีลูกด่วยกัน 4 คน
มหาวิทยาลัยฮัมบูร์กแถลงการณ์ว่าถึงแม้ไม่อาจย้อนเวลาไปแก้ไขสิ่งผิดในอดีตให้ถูกต้องได้ แต่การกระทำครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์ เพื่อช่วยให้สามารถมองและกระทำสิ่งต่างๆในอนาคตได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น
คุณหมอซิลล์ม-ราพอพอร์ทให้สัมภาษณ์หลังการสอบว่าเธอไม่ได้ต้องการอะไรมากมายในอายุขนาดนี้ "มันเป็นเรื่องของหลักการ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว" ซึ่งขยายความว่าการสอบเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ไขการกระทำที่ผิดให้ถูกต้อง เมื่อเธอพร้อมสอบดังที่อาจารย์ที่ปรึกษายืนยัน เธอก็ต้องได้สอบ
ภาพที่เห็นตอนเธอรับใบปริญญาคือรอยยิ้มอย่างมีความสุขของคุณหมอและครอบครัว แต่หากมองอีกแง่มุมหนึ่งนี่คือการแก้แค้นลัทธินาซี ซึ่งมีฮิตเลอร์เป็นหัวโจกอย่างสาสมและสะใจ เพราะมันหมายถึงว่าความชั่วช้าใดๆ ก็ไม่อาจเอาชนะฉันได้ พวกเธอตายไปหมดแล้วด้วยสาเหตุที่อเนจอนาถต่างๆ แต่ฉันยังมีชีวิตอยู่และได้ทำสิ่งที่พวกเธอเคยห้ามอย่างไม่ถูกทำนองคลองธรรม
การแก้แค้นที่งดงามที่สุดและไม่บั่นทอนจิตใจของตนเอง ก็คือ การมีชีวิตอยู่อย่างสุขสำราญ ในขณะที่คุ่แค้นตายไปแล้ว
Cr. Global Change 2 - วราภรณ์ สามโกเศศ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น