วันจันทร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2558

ตั้งและพิชิตเป้าหมายอย่างไร? ให้สำเร็จได้

      



      เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือนแรกของปี 2015 เป็นโอกาสเหมาะในการตั้งเป้าหมายความสำเร็จภายในปีนี้หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Resolution" ดังนั้นบทความครั้งนี้ ผมนำข้อความบางส่วนที่น่าสนใจในประเด็นเรื่องการพิชิตเป้าหมาย จากหนังสือเรื่อง "คิดต้องทำ คันต้องเกา" ซึ่งแปลมาจากต้นฉบับ "Stop Talking, Start Doing" มาฝากชาว Blogger และท่านผู้อ่านทุกคน

---

      ความตั้งใจจริงเพียงอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้คุณไปถึงจุดหมายที่ต้องการได้ แต่การวางแผนที่เหมาะสมก่อนการเริ่มพิชิตเป้าหมายที่คุณระบุไว้เหมาะสม ช่วยพาคุณไปถึงเป้าหมายได้อย่างแน่นอน

เป้าหมายของคุณคืออะไร?

      นักเขียนชื่อ พอล เจ. เมเจอร์ ได้พัฒนาวิธีการ SMART เพื่อการตั้งเป้าหมายอย่างชาญฉลาด ซึ่งจะตีกรอบความคิดให้คุณสามารถตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้จริง

Specific (เฉพาะเจาะจง)
      ไม่ใช่แค่ "เขียนและสร้าง Blog" แต่เป็น "เขียนและสร้าง Blog ที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองและการทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจ"

Measurable (วัดผลได้)
       "เขียนและสร้าง Blog ที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองและการทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจให้มียอดคนอ่านทั้งหมดเพิ่มอีก 4,000 views ในเดือนมิถุนายน"

Achievable (บรรลุผลได้)
       อยู่ในขอบเขตความเป็นไปได้ เช่น ถ้าเป็นการเดินทางไปเที่ยวดาวอังคาร คงต้องรอไปอีกช่วงสองสามช่วงอายุคน

Realistic (เป็นไปได้จริง)
       เช่น การวิ่งมาราธอนระยะสั้นอาจเป็นไปได้จริงในปีนี้ ส่วนการวิ่งมาราธอนระยะยาวเป็นเป้าหมายของปีหน้า

       การตั้งเป้าหมายให้สามารถวัดผลได้ บรรลุผลได้ และเป็นไปได้จริง ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง
ตัวอย่าง: 
แบบใช้ไม่ได้: เริ่มต้นออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ
แบบนี้ใช้ได้: วิ่งให้ได้ 3 กิโลเมตรต่อสัปดาห์, เปิดบริษัทจัดเลี้ยงด้วยอาหารสุขภาพให้ได้ภายในสิ้นปีนี้


การไล่ตามเป้าหมายที่สิ้นคิด

       จากนั้นประเมินเป้าหมายของคุณดูว่ามีอะไรที่บ่งบอกถึงการไล่ตามเป้าหมายที่สิ้นคิดหรือไม่ ถ้าใช่ คุณน่าจะกำลังมุ่งอยู่กับเป้าหมายในอนาคตจนมองข้ามความเป็นจริงของสถานการณ์ในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง

       อันที่จริง คุณคงคิดว่าจะมีสิ่งมหัศจรรย์บางอย่างเข้ามาช่วยให้คุณหลุดพ้นจากงานอันยากลำบาก การอุทิศตัวหรือการตัดสินใจทั้งหลาย ระหว่างทางที่คุณมุ่งหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว

       การละเลยความเป็นจริงจะนำพาให้คุณไปสุ่พฤติกรรมขาดสติ คือ กล้าที่จะเสี่ยงทำผิดจริยธรรม ทำเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิตหรือสุขภาพของตัวคุณเอง หรือเอาความมั่งคั่งในครอบครัวเข้าไปแลก ดังนั้นจงจำไว้ว่า ไม่ว่าคุณจะความทะเยอทะยานที่สูงเสียดฟ้ามากแค่ไหน เท้าของคุณยังต้องติดดินเสมอ

       ดี คริสโตเฟอร์ เคยส์ อธิบายถึงปรากฎการณ์การไล่ตามเป้าหมายที่สิ้นคิดเอาไว้ เมื่อครั้งที่เขาศึกษาเหตุการณ์หายนะที่เกิดกับทีมสำรวจภูเขาเอเวอร์เรสต์ในปี 1996 ซึ่งเป็นทีมของนักปีนเขาสมัครเล่นที่ยอมจ่ายเงินก้อนโตให้กับนักปีนเขามืออาชีพ เพื่อนำทางพวกเขาขึ้นไปพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

       เคยส์กล่าวว่าเมื่อสภาพแวดล้อมในการปีนเขาเปลี่ยนไป ความมุ่งมั่นที่จะต้องไปให้ถึงยอดเขาก็ทำให้นักปีนเขากลุ่มนี้เลิกฟังเสียงจากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของตัวเอง ทั้งๆที่ปกติแล้วพวกเขาน่าจะเลือกวิธีการอื่นหรือยอมล่าถอยลงมาก่อน

       แต่ความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึงยอดเขาทำให้พวกเขามองข้ามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สุดท้ายแล้วมีผู้เสียชีวิตจากการสำรวจครั้งนั้น 8 รายและมีผู้รอดชีวิตอีกหลายคนที่ได้รับบาดเจ็บจนต้องพิการไปตลอดชีวิต

       เคยส์ได้ระบุ "ลักษณะ 6 ประการของการไล่ตามเป้าหมายที่สิ้นคิด" ไว้ดังนี้
  • เป้าหมายที่ระบุไว้แคบเกินไป (ไปให้ถึงยอดเขา)
  • ความคาดหวังจากสาธารณะ (คนกลุ่มนี้เต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน หนึ่งในนั้นคือบุคคลที่มีชื่อเสียง ดังนั้นพวกเขาจึงเป็นกังวลเรื่องภาพลักษณ์ตนเองในสายตาของคนในทีมและคนภายนอก)
  • พฤติกรรมรักษาหน้า (ทั้งในหมู่นักปีนเขาและผู้นำทางที่มองข้ามสัญญาณอันตราย เพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของตนเองไว้
  • ความฝันเกี่ยวกับอนาคตอันสมบูรณ์แบบ (การพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์)
  • การอ้างเหตุผลผิดๆโดยยึดเป้าหมายเป็นหลัก (ถ้าเป้าหมายกลายเป็น "ทุกสิ่งทุกอย่าง" พวกเขาก็ย่อมมาใช้มันมาเป็นเหตุผลรองรับการตัดสินใจที่ไร้เหตุผลซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายได้)
  • ความเชื่อว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของโชคชะตา


การวางแผน

       หลังจากระบุเป้าหมายได้แล้ว เราก็จำเป็นต้องวางแผน

แผนการที่ดีต้อง...

1. หั่นการเดินทางออกเป็นช่วงเล็กๆที่บรรลุผลได้

       ขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการมองเส้นทางโดยรวมไล่ตั้งแต่การพูดไปจนถึงการลงมือทำอาจดูหนักหนาจนเกินไปจนเกิดอาการหยุดชะงักขึ้นมาได้

       แต่คุณจะหวาดหวั่นน้อยลง ถ้าพิจารณาโครงการแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งจะช่วยให้คุณสามารถทุ่มพลังไปกับส่วนที่เหมาะสม และลงมือทำไปตามลำดับที่ถูกต้อง นอกจากนี้ คุณยังมั่นใจได้อีกด้วยว่า ไม่ว่าแผนการของคุณมันจะเป็นอะไร มันจะถูกทดสอบทันทีที่เผชิญกับปัญหาในชีวิตจริง

       ตัวอย่างเช่น การลดน้ำหนัก 2 กิโลกรัมภายในหนึ่งเดือน น่าจะฟังดูเป็นเป้าหมายที่สร้างแรงจูงใจมากกว่าการลดน้ำหนักให้ได้ 20 กิโลกรัมภายในหนึ่งปี เป้าหมายดังกล่าวช่วยให้คุณสามารถวัดผลความก้าวหน้าให้กับรางวัลความสำเร็จเล็กๆน้อยๆที่เกิดขึ้น และปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์เมื่อคุณนำแผนการมาใช้จริง

2. เส้นทางวิกฤติ

       คำศัพท์ด้านการบริหารโครงการคำนี้มาใช้ในแวดวงธุรกิจ เพื่อแสดงลำดับของภารกิจที่ทีมงานจำเป็นต้องทำให้สำเร็จ เพื่อบรรลุเป้าหมายภายในเวลาที่กำหนด ถ้ามีภารกิจใดบนเส้นทางวิกฤติที่ล่าช้าไปหนึ่งวัน โครงการทั้งหมดก็จะล่าช้าออกไปหนึ่งวันเช่นกัน

       แต่เส้นทางวิกฤติในความหมายในที่นี้ คือ การค้นหาคำตอบให้ได้ว่าจะเรียงลำดับของงานที่หั่นเป็นชิ้นๆอย่างไร เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่คุณต้องการจริงๆ เมื่อคุณรู้คำตอบ โอกาสแห่งความสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด

ตัวอย่าง

        สมมติว่าคุณต้องการเปิดร้านกาแฟออร์แกนิก แต่ตอนนี้คุณทำงานอยู่ในแผนกทรัพยากรบุคคลของบริษัทแห่งหนึ่ง "เส้นทางวิกฤติ" ของคุณน่าจะเริ่มต้นด้วยการค้นคว้าข้อมูลและการวางแผน ซึ่งคุณจะสามารถทำให้เสร็จได้ในช่วง "เวลาว่าง" ดังนั้นเส้นทางวิกฤตของคุณน่าจะมีหน้าตาประมาณนี้


เส้นทางในการเปิดร้านกาแฟออร์แกนิกที่ประสบความสำเร็จ

ทำเล: คุณจะเปิดร้านที่ไหน ทำเลใจกลางเมืองมีราคาสูงกว่าแถบชานเมืองเป็นอย่างมาก ดังนั้นการเปิดร้านกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนวิถีชีวิตหรือเป็นแค่ธุรกิจหนึ่งเท่านั้น

ต้นทุน: คุณต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ คุณจะเช่าหรือซื้อสถานที่ คุณต้องมีพนักงานทั้งหมดกี่คน คุณต้องลงทุนค่าอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ด้วยหรือไม่ คุณต้องซื้อสินค้าเก็บไว้ในสต๊อกมากน้อยแค่ไหน คุณจะคิดค่าอาหารเท่าไหร่ คุณจะตั้งกำไรไว้เท่าไร เป็นต้น

แผนธุรกิจ: เมื่อคุณมองเห็นภาพของต้นทุนโดยรวมแล้ว คุณก็ลงมือเขียนแผนธุรกิจได้เลย หากไม่มีแผนธุรกิจ การเดินทางของคุณก็คงไม่ต่างอะไรกับการเดินทางข้ามมหาสมุทรโดยไม่ใช้เข็มทิศ ซึ่งคงไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก

หาเงินทุน: เมื่อคุณตัดสินใจเลือกทำเลที่ตั้งได้แล้ว รวมทั้งประเมินต้นทุน วิธีการทำกำไร และเงินสดทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องใช้เพื่อไปให้ถึงฝั่งฝัน... คุณก็จำเป็นต้องค้นหาคำตอบต่อไปว่า คุณจะหาเงินสดมาจากไหน คุณจะใช้เงินเก็บของคุณหรือนำบ้านของคุณไปจำนองเพื่อขอสินเชื่อ คุณอาจลดขนาดธุรกิจให้เล็กลงสักนิดหรือลดจำนวนเงินที่ขอสินเชื่อสักหน่อย หรือจะทำทั้งสองอย่างก็ได้

ลุย: เมื่อคุณเตรียมเงินทุนไว้พร้อมแล้ว คุณก็พร้อมที่จะ ลุย!


สิ่งที่มีประโยชน์ต่อการเดินทางและสิ่งที่คุณต้องโยนทิ้งไป

       เมื่อคุณเขยิบเข้าไปใกล้ดินแดนแห่งการลงมือทำมากขึ้นเรื่อยๆ คุณควรใช้เครื่องมือทุกอย่างเท่าที่มีอยู่ เพื่อให้มั่นใจว่าคุณยังเดินตามเส้นทางที่ทอดไปสู่เป้าหมาย และคุณควรระมัดระวังความคิดและกิจกรรมที่เผาผลาญพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์

       โชคดีที่เราเรียนรู้บางอย่างได้จากการศึกษาผู้คนกว่า 5,000 คนทั่วโลกของริชาร์ด ไวส์แมน ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาชื่อดังแห่งเกาะอังกฤษ

       ไวส์แมนอธิบายไว้ในหนังสือเรื่อง 59 Seconds ว่า มีห้าขั้นตอนที่จะช่วยรักษาแรงจูงใจเอาไว้ระหว่างการดำเนินโครงการ และอีกห้าขั้นตอนที่จะบั่นทอนแรงจูงใจ

หัาขั้นตอนที่เป็นประโยชน์
  1. ประกาศให้คนอื่นได้รับรู้
    • เล่าแผนการให้คนใกล้ชิด เพื่อน ครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงานฟังโดยละเอียด และประกาศต่อหน้าพวกเขาว่า คุณมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งนั้นไปจนกว่าจะสำเร็จได้ 
    • คุณอาจได้รับการสนับสนุนจากคนอื่นในช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ต่อเมื่อพวกเขามองเห็นว่าคุณได้ทุ่มเทพยายามให้กับการต่อสู้ครั้งนี้จริงๆ
  2. ทำไปทีละขั้นตอน
    • ให้หั่นงานออกเป็นชิ้นเล็กๆในขนาดที่สามารถจัดการได้ เพราะช่วยให้งานดูไม่น่ากลัวจนเกินไป แถมยังเพิ่มโอกาสที่คุณจะสัมผัสความสำเร็จเล็กๆน้อยๆไปตลอดการเดินทาง
  3. ให้รางวัลตนเองระหว่างการเดินทางไปตามเส้นทางวิกฤติ
    • ในระหว่างการเดินทาง ทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จ จงฉลองให้กับความสำเร็จดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอะไรก็ได้ทีน่าจะเหมาะสมกับคุณ เช่น กินขนมที่ชอบ ฟังเพลง ไปเที่ยว
  4. จดบันทึก
    • การบันทึกความคืบหน้าถือว่ามีประโยชน์มาก อาจเป็นการเขียนไดอารี่ แผนผังการเดินทาง หรือการวาดภาพก็ได้ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้กระบวนการของคุณดูจับต้องได้
    • สรุปให้คุณเห็นว่าคุณทำอะไรเสร็จไปแล้วบ้าง และช่วยให้คุณจดจ่ออยู่กับขั้นตอนต่อไป
  5. ลงมือทำด้วยเหตุผลที่เหมาะสม
    • การเตือนตัวเองให้นึกถึงเหตุผลดีๆว่าทำไมคุณถึงทุ่มเทพยายามอย่างหนักเพื่อไปให้ถึงจุดมุ่งหมาย จะช่วยให้คุณก้าวไปตามเส้นทางได้อย่างมั่นคงมากขึ้น
    • อาจจะเป็นเสื้อผ้าสวยๆที่คุณจะใส่ได้ถ้าลดน้ำหนักสำเร็จ หรืออำนาจตัดสินใจที่จะอยู่ในมือเมื่อคุณก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าแล้ว การคิดแบบนี้ถือว่ามีประโยชน์มาก

ห้าขั้นตอนที่ไม่เป็นประโยชน์

อย่างดีที่สุดขั้นตอนเหล่านี้ก็ไม่ส่งผลใดๆเลย แต่ทางที่ดีอย่าเปลืองพลังงานไปกับมันเลยจะดีกว่า
  1. สร้างแรงจูงใจให้ตัวเองด้วยการยกย่องใครบางคนเป็นวีรบุรุษ
  2. ลงมือทำด้วยเหตุผลที่ไม่เหมาะสม โดยนึกถึงความล้มเหลวหรือความเกลียดชังที่มีต่อสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
    • เนื่องจากความคิดแง่ลบเหล่านี้ไม่ได้ช่วยให้คุณทุ่มเทพลังงานและความมุ่งมั่นไปกับเป้าหมายที่คุณตั้งไว้
  3. หักห้ามใจไม่ให้คิดถึงสิ่งที่ไร้ประโยชน์
    • ยิ่งคุณพยายามไม่ให้หักห้ามใจไม่ให้คิดถึงสิ่งที่ไร้ประโยชน์มากเท่าใด คุณก็จะยิ่งส่งพลังงานไปยังทิศทางดังกล่าวมากเท่านั้น
  4. เพ้อฝันถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้น
    • คนที่ชอบฝันกลางวันถึงชีวิตอันยอดเยี่ยมหลังจากบรรลุเป้าหมายมักจะล้มเหลว เนื่องจากพวกเขาให้ความสำคัญกับตัวความสำเร็จเองมากกว่ากระบวนการไปสู่ความสำเร็จ พวกเขาจึงไม่ได้เตรียมตัวที่จะพบเจอกับเส้นทางลาดชันหรือถนนขรุขระที่รออยู่ระหว่างทาง
    • พวกเขายังมีแนวโน้มที่จะรู้สึกผิดหวังกับระยะห่างระหว่างจุดที่กำลังยืนอยู่กับจุดที่ต้องการจะไปให้ถึง
    • บทเรียนในที่นี้ คือ แม้ว่าการเพ้อฝันถึงเป้าหมายจะช่วยให้รู้สึกดีได้ แต่มันก็ไม่สามารถช่วยให้คุณไปถึงจดนั้นได้
  5. อาศัยความตั้งใจเพียงอย่างเดียว
    • ความตั้งใจจริงไม่ใช่แผนการ และก็ไม่ใช่โครงสร้างที่สนับสนุนการลงมือทำของคุณ มันอาจเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถพาคุณไปจนถึงจุดที่คุณต้องการได้ ดังนั้น การอาศัยความตั้งใจจริงเพียงอย่างเดียวจึงมักจะนำไปสู่ความผิดหวังเสมอ
---

      ผมหวังว่าบทความนี้ คุณจะได้นำเทคนิคดังกล่าวและข้อคิดที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการตั้งเป้าหมายตนเองให้สำเร็จนะครับ


Cr. คิดต้องทำ คันต้องเกา - หนังสือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น