การจับมือเดิมเป็นวัฒนธรรมของชาวตะวันตก แต่ปัจจุบันนี้กลายเป็นมารยาททั่วไปในสังคมเมื่อได้พบกัน
มีผู้ค้นคว้าถึงที่มาของประเพณีการจับมือ ซึ่งมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่า มีมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์แล้ว คนในยุคนั้นดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์และแย่งอาณาเขต พวกเขาจึงต้องมีอาวุธติดมืออยู่เสมอ เวลาพบคนแปลกหน้า หากไม่ประสงค์จะให้ร้ายแก่กัน ก็ต้องวางอาวุธในมือ แล้วยื่นมือออกไปให้อีกฝ่ายลูบฝ่ามือ เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่มีอาวุธในมือ เมื่อเวลาผ่านไปก็กลายเป็นวัฒนธรรม พบกันจึงต้องจับมือกัน
การจับมือเป็นการแสดงเจตนาที่ดี มีความไว้ใจเชื่อถือต่อกัน นักธุรกิจหญิงชาวอเมริกันท่านหนึ่ง ลาออกจากงาน เริ่มกิจการผลิตเครื่องสำอางจากพนักงานแค่ 9 คน หลังจากนั้น 20 ปี บริษัทของเธอมีพนักงานถึง 5,000 คน
เธอมีเคล็ดลับอะไรที่สามารถสร้างบริษัทให้ใหญ่โตถึงขนาดนี้ เธอกล่าวว่า เธอเริ่มจากการรู้จักพลังของการจับมือ เธอจำได้ว่า ตอนที่เธอเป็นพนักงานขายของบริษัทแห่งหนึ่ง หลังจากร่วมประชุมในบริษัทแล้ว เธอได้ยืนรอเป็นเวลา 3 ชั่วโมง เพื่อจะจับมือกับผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัท แต่ในขณะที่เธอได้สัมผัสมือของผู้จัดการนั้น เขาไม่สนใจแม้แต่จะมองหน้าเธอสักนิด ทำให้เธอรู้สึกผิดหวัง ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และ หมดกำลังใจที่จะทำงานต่อไป ตอนนั้น เธอตั้งใจไว้ว่า "หากมีสักวัน มีคนเข้าแถวรอเพื่อจะจับมือกับฉัน ฉันจะให้ความสำคัญกับทุกคน ให้ทุกคนรู้สึกอบอุ่นเมื่อได้สัมผัสมือของฉัน ถึงฉันต้องเหนื่อยสักเพียงใดก็ตาม"
เริ่มตั้งแต่วันที่เธอก่อตั้งบริษัท เธอได้สัมผัสมือกับคนนับไม่ถ้วนและบางครั้งต้องจับมือกับคนเป็นร้อย ทุกครั้งเธอจะคิดถึงความรู้สึกเย็นชาของผู้จัดการฝ่ายขายคนนั้น และทำให้เธอต้องสัมผัสมือกับทุกคนด้วยมิตรไมตรี ความรู้สึกที่จริงใจและเป็นกันเองกับทุกคน
การจับมือก็มีเทคนิคและต้องศึกษาเรียนรู้ นักเขียนชาวอเมริกันท่านหนึ่งกล่าวว่า "มือที่ผมได้สัมผัส ผมจะรับรู้ถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายได้โดยไม่มีการพูด มือของบางคนให้ความรู้สึกที่เหินห่างและเย็นชา แต่มือของบางคนให้ความรู้สึกเป็นมิตรและอบอุ่น" มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ พลังของการสัมผัสมือมีหลายรูปแบบ ขึ้นกับอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่าย
โดยทั่วไปการจับมือมี 3 ลักษณะ คือ ครอบงำ คล้อยตาม และเสมอภาค
เวลาจับมือ หากฝ่ามือของเราคว่ำลง แสดงว่าเราให้ความรู้สึกที่จะคนที่อยู่ในฐานะด้อยกว่าหรืออายุน้อยกว่า หรือเป็นพนักงานขาย เวลาจับมือกับผู้อื่นหรือผู้ชื้อ ไม่ควรจับด้วยวิธีนี้
หากเราจับมือกับผู้อื่นโดยหงายฝ่ามือขึ้น ก็จะให้ความรู้สึกที่พร้อมจะคล้อยตามอีกฝ่าย มีบางคนต้องการจะเป็นผู้ตาม ยอมด้อยกว่า ก็จะใช้วิธีนี้จับมือกับผู้อื่น และมักให้ความรู้สึกที่ดีแก่อีกฝ่าย ทำให้ผู้อื่นอยากคบค้าสมาคมด้วย
หากทั้งสองฝ่ายต่างต้องการครอบงำอีกฝ่าย ไม่ยอมอ่อนข้อให้แก่กัน ผลก็คือ ฝ่ามือทั้งสองฝ่ายจะตั้งตรง แสดงถึงความเสมอภาค ซึ่งมักเกิดกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง หรือบุคคลที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
การจับมือถือเป็นมารยาทในสังคมที่ทุกคนยอมรับ แต่ก็มีบางกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เข้าใจมารยาทในการจับมือ ทำให้เกิดการเข้าใจผิดและเสียหน้าขึ้นได้
มีอยู่ครั้งหนึ่ง อาจารย์ไปเยี่ยมลูกศิษย์ที่บ้าน พอไปถึง ลูกศิษย์ก็แนะนำอาจารย์ให้พ่อรู้จัก เมื่อทราบว่าเป็นอาจารย์ของลูก พ่อจึงรีบลุกขึ้นกล่าวคำต้อนรับ พร้อมกับยื่นมือออกไป แขกจึงรีบยื่นมือขวาออกมาเพื่อจับมือด้วย แต่ต้องยื่นมือเก้อ เนื่องจากเจ้าของบ้านยื่นมือออกไป เพียงเพื่อจะผายมือเชิญให้นั่ง ทำให้แขกรู้สึกเก้อเขิน ทำตัวไม่ถูก จะชักมือกลับมาอย่างไรจึงไม่เสียหน้า เพราะเข้าใจผิดต่อการยื่นมือออกมาของเจ้าของบ้าน จึงต้องผายมือไปทางเดียวกับเจ้าของบ้านและกล่าวขอบคุณ ถึงแม้เรื่องนี้จะผ่านไปแล้ว แต่อาจารย์ท่านนั้นก็ยังจำไว้เป็นข้อคิดเสมอ การจับมือเป็นเรื่องธรรมดา มิได้มีความสำคัญอะไร แต่มีคนจำนวนหนึ่งยังไม่เข้าใจวิธีใช้ การจับมือก็พอมีกฎเกณฑ์อยู่บ้างเหมือนกัน เช่น
- ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ลูกน้องต้องรอให้หัวหน้ายื่นมือออกมาก่อน จึงยื่นมือไปจับได้
- ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ ต้องให้ผู้ใหญ่ยื่นมือออกมาก่อน เด็กจึงจะยื่นมือไปจับได้
- ระหว่างฝ่ายชายกับหญิง ต้องให้ฝ่ายหญิงยื่นมือออกมาก่อน ฝ่ายชายจึงจะจับมือได้
- การจับมือต้องใช้มือขวาเสมอ
- เวลาจับมือ หากสวมถุงมือควรถอดออกก่อน
- เวลาจับมือ อย่าจับแบบไม่มีเรี่ยวแรงหรือไร้อารมณ์ และไม่ควรบีบจนแน่นเกินไป
นี่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ทั่วไป บางครั้งเราก็ต้องปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบทำตัวไม่ถูก ก่อนจับมือกับใครต้องใคร่ครวญดูก่อนว่า เขายินดีที่จะจับมือกับเราหรือไม่ หากคิดว่าเขายินดีถึงเขาเป็นหัวหน้า เราก็ยื่นมือออกไปก่อนได้ ทั้งนี้ขึ้นกับความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะคนที่เป็นพนักงานขาย หากไปบ้านลูกค้าแล้วเป็นฝ่ายยื่นมือ ขอจับมือก่อน น่าจะเป็นผลลบมากกว่า
Cr. วิธีโปร่ยเสน่ห์อย่างแนบเนียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น