วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

Trend: ครอบครองให้น้อยลง


     บทความนี้ ผมเรียบเรียงเนื้อหาจากหนังสือที่เขียนโดยคุณโตมร ศุขปรีชา ซึ่งถูกพิมพ์เป็นครั้งแรกในนิตยสาร WAY เมื่อปี ค.ศ. 2011 หรือเมื่อ 4 ปีก่อน

     เรื่องที่จะพูดถึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทรนด์ (Trend) เทรนด์หนึ่งที่ผมมองว่าน่าสนใจแต่คนทั่วไปหรือทั่วโลกยังไม่รู้ทั่วถึง และมันเป็นประโยชน์โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายของคุณจริงๆ

---

    สมมติมีคนแปลกหน้าที่ไม่เคยรู้จักกันเลยคนหนึ่ง เขาต้องการมาขอยืมใช้รถยนต์ของคุณ (ถ้าคุณผู้อ่านยังไม่มี ให้สมมติว่าคุณมีรถยนต์ เพื่ออรรถรสในการอ่าน)

    คำถาม คือ 
     หนึ่ง...คุณจะให้คนแปลกหน้าคนนี้ได้ยืมใช้รถยนต์ของคุณหรือไม่?
     สอง...คุณคิดว่าจากคำถามข้อหนึ่ง จากทั้งหมด 100 คนจะมีคนตอบว่าให้ยืมทั้งหมดกี่คน?

     คุณและหลายๆคนคงตอบว่า จะบ้าหรอ!!! ใครจะให้คนแปลกหน้ามาใช้รถยนต์ของคุณ

     ที่จริงแล้ว "น้ำใจ" ไม่สำคัญเท่ากับ "ความไว้วางใจ" ที่มีให้ต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานกว่าน้ำใจมาก และเมื่อเมื่อไม่มีความไว้วางใจกัน สังคมที่คุณอยู่นั้นปลูกฝังให้คุณรู้สึก "หวาดระแวง" ซึ่งกันและกัน คุณก็เลยไม่สามารถทำในสิ่งที่คนบางกลุ่มกำลังทำอยู่

     และกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ที่ช่วยให้คุณรู้จักครอบครองน้อยลงแต่แบ่งปันให้มากขึ้น และรู้จัก ไว้วางใจซึ่งกันและกัน มากขึ้น

     เทรนด์ที่ว่านี้นิตยสาร Time เรียกว่า "Share" ในขณะที่เว็บไซต์ Trend Watching เรียกว่า "Own Less"

     ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีข้าวของเต็มบ้านไปหมด ทุกอย่างคุณต้องมาซื้อใช้และครอบครอง ตั้งแต่ตู้เย็น หม้อหุงข้าว เครื่องเล่นดีวีดี รถยนต์ หรือแม้แต่ บ้านพักตากอากาศ ประเด็นคำถามของเทรนด์นี้คือ ทำไมคุณต้องเป็นเจ้าของ?

     ของทุกอย่าง คุณต้องคอยดูแลทุกอย่างด้วยตัวของคุณเอง และของเหล่านี้นี่เองที่ค่าเสื่อมราคาหรือผุกร่อนทั่งในช่วงที่คุณได้ใช้งานหรือไม่ได้ใช้งาน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะใช้สิ่งของเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต้องผลิตสิ่งของเหล่านี้เพื่อป้อนให้ได้ตาม Demand หรือความต้องการของแต่ละครัวเรื่อนอีก ซึ่งส่งผลกระทบในแง่สิ่งแวดล้อม เพราะโรงงานเหล่านี้ปล่อยก๊าชเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

     ด้วยเหตุนี้ เทรนด์ Own Less จึงถือกำเนิดขึ้น โดยมีเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นตัวช่วยสำคัญ

     นิตยสาร Time กล่าวว่าเทรนด์นี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เกิดโปรแกรมแบ่งปันกันฟังเพลงอย่าง Napster เพราะ Napster ทำให้คนไม่จำเป็นต้องซื้อซีดีกันมากๆอีกต่อไป แต่เป็นการทำให้ซีดีนั้นเปลี่ยนไปอยู่ในรูปไฟล์ดิจิตอลแทน แล้วสามารถ "แลกเปลี่ยน" กันฟังได้ แต่มีปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ทำให้ท้ายที่สุด Napster ต้องปิดตัวไป

     แต่สิ่งที่ Time เรียกว่า Napsterization ไม่ได้ตายไปด้วย มันกลับเปิดช่องทางให้มนุษย์ว่า เรายังมีทางเลือก ทำให้วิธีคิดแบบ Napster ขยายวงออกสู่เรื่องอื่นๆอีกมาก อาทิ

     เว็บ Netflix ถ้าคุณเปิดเข้าไปในเว็บนี้ คุณจะพบว่านี่คือเว็บที่กลายเป็นธุรกิจใหญ่ มีสมาชิกมากกว่า 20 ล้านคนที่จ่ายเงินสมัครเข้ามา แล้วสามารถ "แลกเปลี่ยน" แผ่นดีวีดีภาพยนตร์ระหว่างกันได้ไม่ผิดกฎหมาย เพราะตัวเว็บนี้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแผ่นดีวีดีที่ถูกกฎหมาย

     เว็บ SnapGoods เป็นเว็บสื่อกลางให้คนนำสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ในเวลานั้นๆมาทั้งให้ยืมและปล่อยให้เช่า เช่น อุปกรณ์เดินป่า อุปกรณ์กีฬา เครื่องมือช่าง เครื่องดนตรี กล้องถ่ายรูป และอื่นๆ การปล่อยให้สิ่งของเหล่านี้ที่คุณเป็นเจ้าของไม่ได้ใช้งานไว้เฉยๆคงไม่ดีสักเท่าไหร่ การให้คนอื่นยืมหรือเช่า เพื่อที่คุณได้รายได้ในส่วนนี้ น่าจะเป็นหนทางที่ดีกว่า

     เว็บ Zipcar ก็เช่นกันกับสองเว็บที่กล่าวไป แต่เป็นเรื่องของรถยนต์ ทำให้คุณไม่ต้องเสียค่าดูแลรถตลอดเวลา ซึ่งเมื่อไหร่ที่เจ้าของรถไม่พอใจก็สามารถปฏิเสธได้ทุกเมื่อ

     เว็บ Airbnb ที่เป็นตัวกลางให้ผู้คนสามารถปล่อยบ้านของตนเองให้คนอื่นเช่าได้ตลอดเวลา โดยที่คนเช่า และผู้ที่จะประสงค์เช่าไม่รู้จักกันมาก่อน ถึงแม้ไม่สะดวกสบายเท่ากับอยู่โรงแรม แต่ไม่มีการบริหารจัดการใดๆเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งราคาค่าเช่าก็ถูกกว่า จึงทำให้เว็บนี้กลายเป็นที่นิยมอย่างมาก

     ข้อดีของเทรนด์นี้มีอะไรบ้าง

1. ช่วยให้ชีวิตคุณ "กรีน" มากขึ้น เพราะไม่ต้องครอบครองสิ่งของมาก ปริมาณความต้องการสิ่งของเหล่านี้ลดลง อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็ลดการผลิตลง

2. ประหยัดค่าใช้จ่าย เพราะสิ่งของบางอย่างคุณใช้นานๆครั้งหรือไม่ได้ใช้บ่อย การเช่ายืมย่อมถูกกว่าการซื้อเพื่อมาใช้เพียงไม่กี่ครั้ง

3. เทรนด์นี้สามารถ "วัด" หรือ "บ่งชี้" ได้ด้วยว่า "สภาพจิต" ของสังคมนั้นๆเป็นอย่างไร

      หากคำตอบจากคำถามตอนต้นบทความ คุณตอบว่า "ไม่" เพราะเหตุผลง่ายๆก็คือ "ไม่ไว้ใจ" คือ คุณไม่ไว้ใจว่าคนที่มาขอยืมหรือเช่าจะมีจิตสำนึกในการรักษาของมากพอหรือไม่? ถ้าสิ่งของเหล่านี้เกิดเสียหายจะซ่อมให้หรือไม่? หรือ ถ้าให้ยืมไปแล้วคนที่ยืมจะนำมาคืนหรือไม่?

      คำถามที่เกิดขึ้นนี้ คงต้องคิดว่าคุณกำลังอยู่ในสังคมแบบไหน? พื้นที่ที่คุณอยู่ มันคือพื้นที่แบบไหน?

      Time บอกว่าเทรนด์นี้มีประโยชน์อย่างแท้จริงตรงที่การ "บริโภคร่วม" (Collaborative Consumption) นั้นจะกลายเป็นเรื่องเชิงสังคม เป็นยุคสมัยที่ผู้คน "ปล่อยวาง" กับการ "ครอบครอง" มากเสียจนสามารถแบ่งปันสิ่งต่างๆได้ ไม่ใช่แค่กับเพื่อนสนิทหรือคนรู้จัก แต่รวมถึง 'คนแปลกหน้า' ด้วย

---

      ในความเห็นของผม ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติจริงจะเป็นไปได้ยากสำหรับกรณีของคนแปลกหน้า แต่การเริ่มจากสังคมเล็กๆอย่าง เพื่อนบ้านที่คุณอาศัยอยู่ หรือ บริษัทธุรกิจที่คุณกำลังเริ่มก่อตั้ง หากแนวคิดไปเริ่มประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ชีวิตคุณจะเบาขึ้นเยอะ เพราะ ค่าใช้จ่ายน้อยลงแต่คุณมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น ธุรกิจมีเงินสดหรือกำไรมากขึ้นอันเกิดจากการลดต้นทุนในเรื่องการบริหารงาน อีกทั้งคุณยังได้กระชับความสัมพันธ์คนรอบข้างหรือหน่วยสังคมที่คุณอยู่ได้แน่นแฟ้นมากขึ้นโดยมีพื้นฐานบนความไว้วางใจ

      คุณว่าอย่างนั้นจริงหรือไม่?

---

Cr. เป็นตะคริว -- คุณโตมร ศุขปรีชา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น