วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

5 สิ่งที่คุณควรพิจารณาก่อนโต้แย้งคนอื่น


      แน่ใจว่าทุกคนต้องเคยผ่านการโต้แย้งที่ดูผิดที่ผิดเวลากันมาแล้วทั้งนั้น ดังนั้นก่อนจะเริ่มการโต้แย้งใดๆก็ตาม คุณต้องถามตัวเองว่าเวลาและสถานที่มีความเหมาะสมหรือไม่ จะดีกว่าไหมถ้าคุณถอยออกมาโดยไม่ต่อล้อต่อเถียงอะไรทั้งนั้น หรือไม่ก็รอให้เวลาและสถานที่เอื้ออำนวยมากกว่านี้

      ลองใช้ความคิดตอบคำถามดังต่อไปนี้

1. การโต้แย้งครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่?
2. คุณควรเลือกสถานที่ที่เป็นส่วนตัว หรือ มีผู้คนพลุกพล่านกันแน่?
3. คุณมีข้อมูลที่จำเป็นหรือไม่?
4. คุณมีความพร้อมทางอารมณ์สำหรับการโต้แย้งหรือไม่?
5. คู่สนทนามีความพร้อมทางอารมณ์เพียงพอที่จะรับฟังคุณหรือไม่?

      ที่นี้ลองมาพิจารณาลงลึกในแต่ละประเด็น

1. การโต้แย้งเป็นประโยชน์หรือไม่

      ถ้าการโต้แย้งนั้นไม่ส่งผลดีต่อใครเลย มันก็คงไม่มีประโยชน์

      ลองจินตนาการว่าคุณกำลังอยู่ในงานเลี้ยงเปิดธุรกิจใหม่ คุณแนะนำตัวเองกับชายคนหนึ่งที่ดูโดดเด่นสะดุดตา ต่อมาคุณรู้ว่าเขาเป็นหัวหน้ากลุ่มนักล่าสัตว์ในเมืองนั้น ส่วนคุณก็ต่อต้านการล่าสัตว์แบบหัวชนฝา อันที่จรืงแล้วคุณจะตรงเข้าประเด็นทางศีลธรรมทันทีก็ได้ แต่การทำแบบนั้นไม่น่าจะเกิดประโยชน์ใดๆ เพราะเขาคงได้ยินข้อโต้แย้งทำนองดังกล่าวมานับไม่ถ้วน และที่สำคัญ บรรยากาศงานเลี้ยงคงไม่เหมาะกับการสาธยายความเลวร้ายของการล่าสัตว์ นอกจากการโต้แย้งจะไปได้ไม่ไกลแล้วยังอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจของคุณด้วย ดังนั้นคุณควรถอยออกมาก่อน หรือรีบเปลี่ยนหัวข้อการสนทนาโดยเร็ว

      คนบางคนอาจยึดติดกับบางเรื่องจนยากที่จะเปลี่ยนความคิด คุณคงไม่สามารถโน้มน้าวให้เขาเลิกคิดจะเปลี่ยนศาสนาได้ด้วยการพูดคุยกันเพียงครั้งเดียว ดังนั้นสิ่งที่คุณพอจะทำได้ก็คือ สร้างความสงสัยใคร่รู้ให้เขารู้สึกอยากพูดคุยด้วยในครั้งต่อไป

      หลักฐานอะไรที่จะทำให้คุณเปลี่ยนความคิดได้?

      นี่เป็นคำถามที่บ่งชี้อะไรได้หลายอย่าง ถ้าคู่สนทนาตอบว่าไม่มีสิ่งใดที่จะพิสูจน์ได้ว่าเขาเป็นฝ่ายผิด ขอให้รู้เลยว่าคุณกำลังเผชิญหน้าพวกดันทุรัง ซึ่งทางที่ดีคุณควรถอยออกมาให้เร็วที่สุด อย่าเสียเวลาโต้แย้งกับพวกดันทุรัง เพราะมันเป็นการเปล่าประโยชน์

2. จะเลือกสถานที่ไหนดี

      นี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากโดยเฉพาะในการพูดคุยทางธุรกิจ คุณต้องคิดให้รอบคอบว่าจะพูดคุยกันตัวต่อตัวหรือต่อหน้าคนอื่นๆ ทั้งนี้มีประเด็นที่คุณต้องพิจารณาดังนี้

2.1 ความลับ
      ถ้าหัวข้อทีคุยกันเป็นความลับ (ของตัวคุณเองหรือคนอื่น) คุณก็ควรเลือกสถานที่ส่วนตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ความลับรั่วไหล

2.2 ความมั่นใจ
      แบบไหนที่จะช่วยให้คุณรู้สึกมั่นใจมากกว่ากันระหว่างพูดคุยกันตามลำพังหรือมีคนอื่นอยู่ด้วย และถ้าคุณอยากให้มีคนอื่นอยู่ด้วย คนเหล่านั้นควรจะเป็นใคร

2.3 ความเป็นทางการ
      คุณรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยถึงเรื่องนี้ในบริบทที่เป็นทางการ (เช่น ห้องประชุม) หรือไม่เป็นทางการมากกว่ากัน

2.4 การคุกคาม
      ถ้าคุณรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นคนก้าวร้าวและดูไม่ค่อยเป็นมิตร ขอให้เลือกคุยกันในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย นั่นอาจช่วยให้เขาก้าวร้าวน้อยลง และถ้าเกิดเหตุฉุกเฉิน คนอื่นก็จะสามารถยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือคุณได้ทันการณ์

2.5 ความเห็นพ้องต้องกัน
      มีใครเห็นด้วยกับคุณหรือไม่ ถ้ามี ข้อโต้แย้งของคุณก็จะมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นเมื่อคุณนำเสนอต่อหน้าคนเหล่านั้น

3. มีข้อมูลที่จำเป็นหรือยัง

      การเตรียมข้อมูลให้พร้อมถือเป็นเรื่องสำคัญจึงไม่ใช่เรื่องน่าอาย ถ้าคุณจะพูดว่า "ขอผมกลับไปศึกษาผระเด็นนี้ก่อนแล้วเราค่อยกลับมาคุยกันพรุ่งนี้" และก็เป็นไปได้ว่าระหว่างที่พูดคุยกัน คุณอาจไม่เข้าใจข้อมูลบางอย่างที่อีกฝ่ายหยิบยกขึ้นมา ทางที่ดีคุณควรขอพักไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจมากขึ้นเสียก่อน

4. คุณมีความพร้อมทางอารมณ์มากน้อยแค่ไหน

      การโต้แย้งต้องอาศัยทั้งเวลา สมาธิ และความพยายาม ดังนั้นถ้าคุณรู้สึกเหนื่อยล้า ว้าวุ่น หรือเร่งรีบ ผลลัพธ์ย่อมออกมาไม่ดีอย่างแน่นอน คุณจึงควรเลือกเวลาและสถานที่ที่เหมาะสม

      เพราะการขอขึ้นเงินเดือนข้างเครื่องชงกาแฟคงเป็นเรื่องไม่เข้าท่ามากๆ และก็คงไม่เหมาะที่จะพูดคุยกันเรื่องความสัมพันธ์ในช่วงเวลาตีหนึ่งอย่างแน่นอน

      สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ การโต้แย้งตอนอารมณ์คุกรุ่น เมื่อคุณได้ยินว่าใครสักคนตัดสินใจทำในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วย คุณก็อาจรีบร้อนส่งอีเมลไปต่อว่าหรือรีบแจ้นไปหาเจ้าตัวทันที จงตรวจสอบให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้เข้าใจผิด เพราะคงไม่มีอะไรน่าอายไปกว่าการระเบิดอารมณ์ในห้องทำงานของใครสักคนแล้วพบว่าคุณเข้าใจผิดไปโดยสิ้นเชิง

5. คู่สนทนามีความพร้อมทางอารมณ์มากน้อยแค่ไหน

      ถึงแม้ว่าคุณจะพร้อมเต็มที่สำหรับการโต้แย้ง คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าเขาพร้อมที่จะรับฟังสิ่งที่คุณพูดจริงๆ โดยคุณอาจส่งข้อมูลหรือเอกสารที่สรุปประเด็นสั้นๆให้เขาอ่านล่วงหน้า จากนั้นจึงค่อยนัดหมายพูดคุยกันทีหลังนั่นอาจจะช่วยให้เขามีเวลาไตร่ตรองเกี่ยวกับสิ่งที่คุณจะพูดและเตรียมคำตอบเอาไว้ก่อน

      เรื่องจังหวะเวลาก็สำคัญเช่นกัน ตอนสี่โมงเย็นของวันศุกร์อาจเป็นเวลาที่เหมาะเจาะสำหรับคุณ แต่เจ้านายของคุณอาจเหนื่อยล้าหรือเคร่งเครียดจากการประชุมก็เป็นได้ พูดง่ายๆก็คือ คุณต้องตรวจสอบความพร้อมของคู่สนทนาว่าสามารถรับฟังสิ่งที่คุณพูดได้อย่างเหมาะสมหรือไม่

ตัวอย่างที่เป็นประโยชน์

      "ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่สำคัญมากและเราควรพูดคุยกันอย่างจริงจัง แต่ตอนนี้คงไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมกันสักเท่าไหร่"

      "พรุ่งนี้ค่อยกลับมาคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งตอนที่เรามีเวลามากกว่านี้ได้หรือไม่ครับ"

      "อ๋อ เรื่องนี้นี่เอง เราคงคุยกันได้ยาวจนลิงหลับเลยล่ะ แต่ฉันว่ามันน่าจะสนุกกว่า ถ้านายเล่าเรื่องทริปพักร้อนชายทะเลให้เราฟัง"

Cr. พูดให้น้อยเข้าไว้ โต้แย้งกับใครก็ชนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น