วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความสำเร็จของการริเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง #1 Instagram



           มีผลิตภัณฑ์หรือสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่เห็นและได้ใช้กันในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนกับไอเดียความคิดริเริ่มตั้งแต่แรกซะทีเดียว นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นและเป็นความสำเร็จขององค์กรหรือผู้บริหาร ซึ่งในบทความนี้ผมนำเสนอข้อมูล เกี่ยวกับ "อินสตาแกรม"(Instagram) เพราะที่มาของความสำเร็จผลิตภัณฑ์นี้มาจากการริเริ่มเปลี่ยนแปลงพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ

           อินสตาแกรม คือ แอพพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้ถ่ายรูปด้วยมือถือและแต่งภาพอย่างรวดเร็วก่อนโพสต์ให้เพื่อนๆที่ได้เห็น ความสำเร็จของอินสตาแกรม เห็นได้จากที่มีจำนวนผู้ใช้ทั่วโลกในปัจจุบันมากกว่า 150 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากเดิมเมื่อ 4 ปีที่แล้วนับจากปีที่เปิดตัวที่มีจำนวนผู้ใช้แค่หลักร้อย ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันระหว่าง เควิน ซิสตรอม (Kevin Systrom) (คนที่อยู่ขวามือในรูป) กับ ไมค์ ครีเกอร์ (Mike Krieger) (คนที่อยู่ทางด้านซ้ายในรูป)


                                            (ขอบคุณภาพจาก http://www.telegraph.co.uk/technology)

           นักประดิษฐ์และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จทุกคนล้วนมีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับผลลัพธ์อันน่าประหลาดใจและเส้นทางที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง อันเป็นผลมาจากการตัดสินใจที่จะริเริ่มเปลี่ยนแปลง เควิน และไมค์ก็เช่นเดียวกัน เดิมเควินเป็นนักโปรแกรมเมอร์ของบริษัทกูเกิล (Google) แต่กล้าตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่ติดอันดับต้นๆในฐานะบริษัทที่น่าทำงานของโลก และได้ชวนเพื่อนสนิทคือ ไมค์ ผู้ที่ทำงานออกแบบ UI และการตลาดให้กับไมโครซอฟท์ ให้ลาออกมาด้วยกัน

           หลังจากนั้นทั้งสองร่วมกันเปิดบริษัทเบอร์เบิร์น (burbn) พัฒนาโปรแกรม Burn ซึ่งเป็นโปรแกรมตกแต่งภาพและสามารถแชร์ข้อมูลกับเพื่อนที่เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์คให้รู้ว่าคุณอยู่ที่ไหน แต่ผลิตภัณฑ์นี้กลับไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หวัง ทั้งสองจึงค่อยๆพัฒนาและใส่จุดขายใหม่ๆอย่าง การใส่แฮ้ชแทก (Hashtag) การเพิ่มลูกเล่น Filter ที่ปรับแต่งภาพได้อย่างรวดเร็วก่อนทำการโพสต์ให้คนอื่นเห็น ซึ่งเป็นจุดขายที่ได้รับความนิยมอย่างมากจนเควินกับไมค์ตัดสินใจโละจุดขายเดิมทิ้งทั้งหมดและหันไปเน้นเรื่องการแชร์รูปเพียงอย่างเดียว จนมีผู้สนับสนุนเงินทุนให้ก่อตั้งบริษัทใหม่ที่ชื่อ Instragram ตามชื่อแอพพลิเคชันที่ได้การพัฒนา

           ความสำเร็จและการพัฒนายังไม่หยุดอยู่แค่นั้น เพราะต่อมา เควินกับไมค์ได้พัฒนา Instragram ให้สามารถใช้ได้ทั้งระบบแอนดรอยด์ (Android) และ iOS ในช่วงปี ค.ศ. 2011 และหลังจากนั้นไม่นานประมาณปีเศษ เฟสบุ๊กก็ประกาศเสนอซื้อ Instragram ด้วยปริมาณเงินสดสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3 หมื่นล้านกว่าบาท เควินกับไมค์ ทั้งสองเป็นเศรษฐีชั่วพริบตา

           จากข้างต้นจะทำให้เห็นได้ว่า ถ้าเควิน และไมค์ ไม่กล้าตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงลาออกจากงานเดิมซึ่งค่อนข้างดีมาก แล้วเควิน กับไมค์ก็อาจไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นเท่าทุกวันนี้ ซึ่งความสำเร็จของเควินกับไมค์คงไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าพวกเขาไม่ยอมทดลองต่อและเรียนรู้จากผลลัพธ์อันน่าประหลาดใจที่เกิดขึ้นในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แน่นอนว่าคงไม่มีใครรวมถึงพวกเขาไม่อยากให้การทดลองหรือการริเริ่มครั้งแรกล้มเหลว แต่ความล้มเหลวก็เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้

           เควินยอมรับว่า การตัดใจที่่จะเปลี่ยนแปลงโดยโยนส่วนใดส่วนหนึ่งของผลิตถัณฑ์ที่ไม่โดนใจลูกค้าทิ้งไปนั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากพวกเขา "ทุ่มเทอย่างหนัก" เพื่อพัฒนาขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เควินและไมค์มองว่าความล้มเหลวในช่วงต้นๆ จะเป็นประโยชน์ในครั้งต่อมาๆ กล่าวคือได้รู้ว่าทางที่ล้มเหลวที่แล้วมา ไม่ควรก้าวข้ามไปอีก มีความคืบหน้าให้รู้ว่าหนทางการก้าวสู่ความสำเร็จใกล้มากขึ้น เพราะสามารถตัดทางที่ไม่ใช่อย่างน้อย 1 ทางเลือกออกไปได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น