10 นาที...เปลี่ยนโลกได้
ทำได้หรือไม่...ไม่เป็นไร...ขอให้คิดได้
ในปี 1988 โรงเรียนมัธยม Lewenberg Middle School กำลังจะถูกสั่งปิดเพราะผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนต่ำที่สุดในบอสตัน แม้แต่ครูก็เรียกโรงเรียนของตนว่า “โรงพยาบาลบ้า” แต่เขตการศึกษาได้ให้โอกาสสุดท้ายโดยส่งผู้อำนวยการชื่อ Thomas P. O'neill ไปแก้ปัญหา
สิ่งที่ ผอ.โอนีล ทำเป็นอย่างแรกคือ เมื่อหมดชั่วโมงเรียนเวลา 16.00 น. ให้ ครูและเด็กๆ “ทุกคน” หาหนังสือที่ตนชอบมาอ่าน 10 นาที แล้วจึงกลับบ้าน (แน่นอน... ครูจำนวนหนึ่งต่อต้าน) ในไม่ช้าทุกคนก็เริ่มเห็นเด็กๆ เดินกลับบ้านกันเงียบๆ หลายคนถือหนังสือขึ้นไปอ่านต่อบนรถรับ-ส่ง (และแน่นอน... ทุกคนอ่านหนังสืออื่นที่ไม่ใช่หนังสือเรียน) เด็กหลายคนเอาหนังสือไปอ่านต่อที่บ้าน และเวลาหลังเลิกเรียนเริ่มกลายเป็นชั่วโมงอันสงบสุข (เด็กๆเริ่มไม่แอะอะเสียงดัง) พอสิ้นปีการศึกษาปรากฏว่าผลรวมคะแนนของโรงเรียนดีขึ้น!
เข้าปีที่ 2 ผอ.โอนีล ให้ครู “ทุกคน ทุกชั้น” เริ่มการเรียนชั่วโมงแรกในตอนเช้าด้วยการอ่านหนังสือ(นวนิยาย หรือ วรรณกรรม)ให้นักเรียนฟัง 10 นาที “ทุกวัน” ซึ่งส่งผลบวกอย่างมากต่อ 10 นาทีที่ทุกคนอ่านเองในภาคบ่าย และเด็กส่วนใหญ่จะตามอ่านหนังสือที่ครูอ่านให้ฟังในตอนเช้า
สิ้นปีการศึกษาที่ 2 ผลคะแนนรวมของโรงเรียนดียิ่งกว่าปีแรก ชื่อเสียงของโรงเรียนก็ดีขึ้น และผู้ปกครองเริ่มส่งลูกสมัครเข้าเรียนมากขึ้น
สิ้นปีที่ 3 นักเรียน 570 คนของโรงเรียน Lewenberg ทำคะแนนการอ่านได้สูงที่สุดใน Boston และมีผู้สมัครรอคิวเข้าเรียนจำนวน 15 หน้ากระดาษ
เรื่องของโรงเรียนได้รับการเขียนถึงในนิตยสาร Time ซึ่งต่อมาเป็นแรงบันดาลใจให้ Hiroshi Hayashi ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นทำตาม แล้วได้รับผลบวกเป็นอย่างมากในชั่วเวลาเพียง 1 ปี และยังส่งผลต่อโรงเรียนอีกกว่า 3,500 โรงในญี่ปุ่น เมื่อ ผอ.ฮายาชิ ใช้เวลา 2 ปี เขียนจดหมายด้วยลายมือตนเอง ขักชวนโรงเรียนต่างๆใช้การอ่านหนังสือให้นักเรียนฟังเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
เรื่องนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่?
เรื่องนี้เป็นหลักฐานยืนยัน (อีกครั้ง) ว่าการอ่านหนังสือนอกตำราให้ฟังเกิดผลดีต่อเด็กทุกกลุ่มอายุ และหนังสือจะไม่ถูกเด็กๆแตะต้องหากไม่มีคนช่วย(โฆษณา)ด้วยการอ่านให้ฟัง
ดังนั้น คุณครู อาจจะต้องใจเย็นมากๆ เพราะจะต้องใช้เวลาดึงความสนใจของเด็กมากกว่า และอาจจะต้องเริ่มต้นที่หนังสือง่ายๆไปก่อน
Cr. สมาคมไทยสร้างสรรค์ - Facebook Page
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น