วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สไตล์การจดบันทึกที่คุณอาจนึกไม่ถึง



พัฒนาความสามารถด้านการสังเกต
และสรุปย่อโดยการจดบันทึกให้เป็นนิสัย

       การจดบันทึกสิ่งที่สนใจ ข้อสงสัยต่างๆไม่ว่าจากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือ บทสนทนาที่คุยกันเป็นประจำ อาจจะกลายเป็นแนวทางหรือไอเดียใหม่ๆที่คาดไม่ถึง นอกจากนี้การจดบันทึกต่อเนื่องจนเป็นนิสัยจะช่วยพัฒนาความสามารถด้านการสังเกตและการสรุปใจความสำคัญ (ความสามารถของพนักงานบริษัท) และการจดบันทึกความผิดพลาดในการทำงานของตนเองยังเป็นการเพิ่ม Know How และเป็นฐานข้อมูลเฉพาะของคุณคนเดียวอีกด้วย หลักการวิเคราะห์ความผิดพลาดของตนเองในที่นี้คือการทบทวนความผิดพลาดของตนเอง ไม่ใช่การคิดลบแต่เป็นการคิดบวกว่า "ต่อไปเราจะทำอย่างนี้" และสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการจดบันทึกให้เป็นนิสัยคือการจดเนื้อหาที่ทำให้เราอยากกลับมาอ่านทวนอีกภายหลัง


ช่วงเวลาที่ควรจดบันทึก

เมื่อพบสิ่งที่ใช้อ้างอิงได้
       เมื่ออ่านหนังสือ นิตยสาร หรือเห็นวิธีทำงานของคนอื่นแล้วรู้สึกว่า "อย่างนี้นี่เอง" จะช่วยแก้ปัญหาของคุณหรือแนะแนวทางสำหรับแผนงานได้

เมื่อมีข้อสงสัย
       จดบันทึกสิ่งที่สนใจ ข้อสงสัยทั้งหมด เมื่อกลับมาดูบันทึกอีกครั้งและสืบค้นในเวลาว่างจะช่วยเพิ่มพูนความรู้

เมื่อนึกอะไรขึ้นมาได้
       สิ่งที่นึกขึ้นได้ขณะดูโฆษณาในรถไฟหรือไอเดียที่ผุดขึ้นมาระหว่างการสนทนาให้รีบจดบันทึกไว้ก่อนที่จะลืม ไอเดียหรือสิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวเหล่านี้อาจจะช่วยแนะแนวทางได้

เมื่อทำสำเร็จและทำผิดพลาด
       เมื่อทำงานสำเร็จหรือผิดพลาด ให้วิเคราะห์สาเหตุแล้วจดไว้ know How ที่ได้จากประสบการณ์จริงจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานอย่างมาก


วิธีจดบันทึกเพื่อเพิ่มแรงจูงใจ

       การจดบันทึกการวิเคราะห์ความผิดพลาดเพื่อไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำ แต่ถ้าจดแต่เนื้อหาแง่ลบอย่างเดียวเท่านั้นก็รังแต่จะบั่นทอนกำลังใจในการทำงาน ดังนั้นควรพยายามเขียนเนื้อหาแง่บวก เช่น "สิ่งที่ทำได้ดี" "สิ่งที่คาดหวังต่อจากนี้"

สิ่งที่ทำสำเร็จ/ประเมินผลแง่บวก
       เขียนเรื่องต่างๆ เช่น ได้ผลตอบรับอย่างไร ลูกค้าสนใจสิ่งใด และพยายามมุ่งมั่นทำงานด้วยการคิดแง่บวก

คิดทบทวนข้อผิดพลาดของตนเอง
       ไม่ควรคิดแง่ลบว่า "เรื่องนี้ไม่ดี เรื่องนั้นไม่ดี" แต่ต้องคิดบวก เช่น "น่าจะทำแบบนี้ "ครั้งต่อไปจะลองทำแบบนี้" ใช้ความผิดพลาดนั้นให้เกิดประโยชน์ครั้งต่อไป

ไม่เขียนข้อผิดพลาดแง่ลบ
       การคิดทบทวนความผิดพลาดครั้งก่อนคือการคิดถึงแนวทางปฏิบัติ เพื่อให้ครั้งต่อไปประสบความสำเร็จ "ทำเรื่องนี้ไม่ได้" "ทำเรื่องนั้นไม่ได้" การคิดทบทวนแง่ลบเช่นนี้จะทำให้เสียกำลังใจในการทำงาน

ตัวอย่างที่ดี

บริษัท A ต่อสัญญา
  • หลังจากส่งมอบสินค้า หมั่นถามความคิดเห็นของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
  • เช็กสต๊อกเสมอ > ความเชื่อมั่น (ของลูกค้า) มีมากขึ้น
บริษัท B ไม่เซ็นสัญญา
  • ต้องวิเคราะห์บริษัทลูกค้าอย่างละเอียด
  • สำรวจความชอบของผู้รับผิดชอบงาน

"เข้าใจว่าบริษัท... ชอบสิ่งที่คาดการณ์เป็นตัวเลขที่ชัดเจนมากกว่าไอเดียแปลกใหม่"


ตัวอย่างที่ไม่ดี

บริษัท B ไม่เซ็นสัญญา
  • วิเคราะห์บริษัทลูกค้าไม่ได้
  • สำรวจไม่เพียงพอ

การจดบันทึกที่ทำให้สนุกกับการดูสมุดตารางเวลา

       เมื่อเราจดบันทึกเป็นประจำจะสร้างนิสัยเปิดสมุดตารางเวลาดูวันละหลายรอบและทบทวนบันทึกที่จดไว้ ถ้าเราบันทึกข้อความที่ให้กำลังใจหรือเรื่องที่ได้รับคำชมก็จะช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายและเพิ่มกำลังใจในการทำงานด้วย

คำคม ข้อคิดดีๆที่คิดบวก
       การจดข้อความให้กำลังใจหรือข้อความที่ชอบจากหนังสือหรือภาพยนตร์จะช่วยสร้างกำลังใจเมื่อท้อแท้หมดกำลังใจ

ของที่อยากได้ สิ่งที่อยากทำ
       เขียนรายการของที่อยากได้ สิ่งที่อยากทำเป็นข้อๆ เมื่อกลับมาดูอีกครั้งในเวลาว่างและคิดว่าจะทำอะไรในวันหยุดก็เป็นการผ่อนคลายจากงานได้

เรื่องที่ได้รับคำชม
       จดสิ่งที่ทำได้สำเร็จหรือเรื่องที่ได้รับคำชมทั้งจากหัวหน้างานและลูกค้า จะทำให้เชื่อมั่นในตนเอง

รายการสิ่งที่สืบค้น
       จดทุกเรื่องที่สนใจหรือสงสัยโดยไม่จำกัดเฉพาะเรื่องงาน เช่น คำศัพท์ที่ไม่เข้าใจระหว่างการสนทนา และสืบค้นในเวลาว่างจะช่วยเพิ่มพูนความรู้


เก็บรวบรวมหัวข้อสนทนา


       การสนทนาเป็นการติดต่อสื่อสารที่สำคัญมากในการทำงาน เรื่องคุยสัพเพเหระบางครั้งอาจจะพัฒนาไปสู่งานใหม่ๆได้ นอกจากนี้การมีคลังหัวข้อสนทนาที่หลากหลายยังแสดงให้เห็นความสามารถด้านการเก็บรวบรวมข้อมูล ดังนั้นควรจะสะสมหัวข้อสนทนาไว้เสมอ

เรื่องที่ต้องตรวจสอบเป็นประจำ
  1. ข่าว ใช้เวลาขณะเดินทางเช็กข่าวจากอินเทอร์เน็ตหรือโทรศัพท์มือถือ
  2. นิตยสาร สร้างนิสัยการดูโฆษณาที่ติดไว้ในรถไฟ กำหนดนิตยสารที่จะใช้เช็กข้อมูล เช่น นิตยสารธุรกิจ และซื้ออ่านเป็นประจำ
  3. ภาพยนตร์และดนตรี เมื่องานอดิเรกไม่ตรงกัน อาจจะทำให้ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร แต่อย่างน้อยคุณควรเช็กเรื่องที่กำลังเป็นกระแส
  4. หนังสือและหนังสือการ์ตูน อ่านหนังสือขายดีหรือหนังสือการ์ตูนไว้ไม่มีขาดทุนโดยเฉพาะหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจจะมีหัวข้อที่หลายคนสนใจร่วมกันอยู่มาก

เมื่อจดหัวข้อสนทนา ต้องจดวันที่ไว้ด้วย

       การจำข้อมูลต่างๆที่เปลี่ยนแปลงทุกวันให้ได้ทั้งหมดเป็นเรื่องยาก เช่น ข่าว บทความในนิตยสาร ดังนั้นคุณควรจดข้อมูลที่สนใจไว้ในสมุดทันที อย่าลืมจดวันที่และแหล่งข้อมูล (เช่น ชื่อหนังสือหรือนิตยสาร) ไว้ด้วย

       ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์เวลาที่กลับมาทบทวนและต้องการจะค้นข้อมูลเพิ่มเติมภายหลัง

ตัวอย่าง
22 ธันวาคม
บทสัมภาษณ์ประธานบริษัท A
(นิตยสาร... ฉบับเดือนพฤศจิกายน)
  • ความเป็นมาจนกระทั่งออกมาทำธุรกิจเอง
  • ระบบการสร้างและพัฒนาบุคลากร

Cr. เอกสาร เวลา ความคิด/หนังสือ

บทความที่เกี่ยวข้องและคุณอาจสนใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น