วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

หลุมพรางความฉลาด (Intelligence Trap)


     Dr.Edward de Bono (เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน) ปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์ของโลกกล่าวถึง หลุมพรางของความฉลาด (Intelligence Trap) ไว้ในหนังสือหลายเล่มว่า คนเก่งคนฉลาดหลายคนกำลังตกหลุมพรางของตัวเอง เนื่องจากเรียนเก่งหรือทำงานเก่งมาก ซึ่งถ้าเผลอตกหลุมนี้

จะกลายเป็น

ระดับที่ 1: คนชอบโต้แย้ง (Defensive)

     ความที่มีเหตุมีผลแน่นมาก เวลาแย้งใครหรือโต้เถียงกับใคร มักยกเอาเหตุและผลมาแย้งให้คนอื่น ที่คิดแตกต่างให้จนมุมได้ไม่ยาก เมื่อโต้แย้งถกเถียงกับใครแล้ว ได้ชัยชนะมากขึ้นๆ จะเริ่มติดใจในความรู้สึกแห่งความสำเร็จนั้น(Sense of Achievement)

กลายเป็น...


ระดับที่ 2: คนเหนือกว่าใคร (Superior)

     แรกๆอาจรู้สึกว่าเหนือคนรุ่นเดียวกัน ระดับเดียวกัน นานๆไปจะรู้สึกว่าตนเองเหนือกว่าผู้บังคับบัญชา เหนือกว่าผู้บริหารทุกระดับ เหนือกว่าผู้บริหารองค์กร เหนือกว่าผู้บริหารประเทศ และเหนือกว่าทุกคน

     คนตกหลุมพรางของความฉลาดจึงชอบวิจารณ์ คนอื่นอย่างภาคภูมิและมั่นใจ ด้วยรู้สึกว่าผู้อื่น คิดไม่ได้ ตัวเองคิดได้เหนือกว่า เมื่อรู้สึกเหนือกว่า อาการจึงค่อยๆแสดงออกมา

กลายเป็น...


ระดับที่ 3: คนหยิ่งยโส จองหอง อวดดี ทะนงตน (Arrogant)

     อาการนี้จะแสดงออกได้ทั้งสายตา ท่าที การพูดและการปฏิบัติตนต่อคนอื่น ซึ่งอาการเหล่านี้ผู้คนรอบข้างสัมผัสได้

     คนที่เคยน่ารักจึงสามารถกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยน่ารัก หรืออาจถึงกับน่าเบื่อได้ ถ้าตกหลุมพรางของความฉลาด

ทำให้กลายเป็น...


ระดับที่ 4: คนที่ลังเลสงสัย ปิดใจ(Skeptical)

     รับสิ่งใหม่ๆ ความคิดเห็นใหม่ๆ ได้ยากมาก ความรู้สึก “เหนือกว่า” มัก พาให้คิดว่า ถ้าอะไรดีจริง คนอย่างตนเองคงรู้หมดแล้ว ถ้าจะมีอะไรที่ตนไม่รู้ สิ่งนั้นก็คงยังไม่ดีพอ ที่คนอย่างตนต้องเสียเวลาไปรู้ ไปฟัง


     ความรู้สึกว่า “ข้าแน่” จะมาบดบังตาและใจของคนที่ตกหลุมพรางของความฉลาด ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับ เปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ ไม่ได้ ฟังความคิดใหม่ๆ และความรู้ใหม่ๆ ไม่ได้ ฟังอะไรแล้วเข้าใจได้ยากกว่าคนอื่น เรียนอะไรได้ยุ่งยากมากกว่าคนอื่น เพราะไม่เปิดใจรับ โดยเผลอยึดเอาตนเองเป็นมาตรฐาน แล้วโต้แย้งวิธีของผู้อื่น และเห็นว่าผู้อื่นน่าจะทำอย่างที่ตนเองคิด ทั้งที่ตนเองก็ทำไม่เป็น และยังไม่รู้จริง


     การไม่เปิดใจพร้อมที่จะรับ แต่กลับเปิดใจพร้อมที่จะแย้ง และวิจารณ์ โดยใช้ความเห็นของตน เป็นหลัก ข้อมูลใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ จึงไม่สามารถเข้าไปสะสมในกล่องสมองได้ กลายเป็นคนที่มีวิจารณญาณที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้นเรื่อยๆโดยที่ตนเองไม่รู้ตัว


     นอกจากนั้น ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ที่มีอยู่มากมายของคนที่ตกหลุมพรางของความฉลาด จะไม่ค่อยได้ถูกนำมาใช้สร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ และสิ่งดีงามอย่างที่น่าจะเป็น เพราะมีรสนิยมชอบวิจารณ์โต้แย้ง และหาจุดบกพร่องของคนอื่น (ซึ่งไม่ถูกใจตนเอง) มากกว่าที่จะคิดสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และลงมือสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้นเป็นชิ้นเป็นอัน


     โดยธรรมชาติ มนุษย์จะมองตนเอง ดีกว่าความเป็นจริงอยู่แล้ว ดังนั้น การฝึกรู้เท่าทันหลุมพรางของความฉลาด และมีสติคุมตัวเองไม่ให้เผลอตกลงไปในหลุมพรางนั้น จึงเป็นสิ่งที่พึงทำ หรือถ้าเผลอตกลงไปบ้างก็รีบดีดตัวขึ้นมา มุ่งนำความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของตน มาสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้เกิดขึ้น แก่องค์กร ครอบครัว สังคม และ ประเทศชาติกันดีกว่า


Cr. Venerable Krittaya

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น