เมื่อตัดสินใจแน่นอนแล้ว ก็ควรแสดงออกอย่างเด็ดขาด การปฏิเสธนั้นไม่จำเป็นต้องปรึกษาก่อน แต่ต้องจริงใจและสง่าผ่าเผย ไม่ต้องชักแม่น้ำทั้งห้า ถ้าทำได้ถึงขั้นประสบผลเช่นเดียวกับการช่วยเหลือผู้อื่น คุณก็คือยอดฝีมือผู้สันทัดในการปฏิเสธ หลักการทั้งหมด 5 ข้อดังต่อไปนี้จะช่วยให้คุณสามารถปฏิเสธโดยทำให้คนอื่นเห็นถึงความจริงใจแต่เด็ดขาดของคุณด้วย
1. ไม่เปิดช่องให้มีการปรึกษาหารือ
เมื่อตัดสินใจปฏิเสธอย่างเด็ดขาดไม่เปลี่ยนแปลงแน่แล้ว ต้องพูดคำว่า "ไม่" โดยใช้ภาษาที่ชัดเจนไม่เยิ่นเย้อ ถ้าทำได้เช่นนี้ คุณก็จะสามารถแสดงนัย "เราแสดงความชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นต้องปรึกษาหารือกันอีก" โดยไม่ต้องพูด ท่าทีที่เป็นมิตรแสดงถึงความมั่นใจตนเองของคุณ ประกอบกับน้ำเสียงและคำพูดที่เด็ดขาด ชัดเจน ไม่เยิ่นเย้อ แสดงว่าปัญหาสรุปไปแล้วไม่ต้องปรึกษาหารือกันอีก
ตัวอย่างเช่น พนักงานขายของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง มาเคาะประตูหน้าบ้านอ้อนวอนให้คุณรับหนังสือพิมพ์ของพวกเขา แต่คุณไม่คิดจะรับเลย คุณควรพูดกับเขาอย่างมีมารยาทว่า "ขอบคุณครับ คุณบริการดีมาก แต่บ้านผมรับหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับแล้ว คุณคงเข้าใจนะครับ"
2. สีหน้าต้องเป็นธรรมชาติ
การระวังสีหน้าและท่าทีขณะพูดคำว่า "ไม่" นั้น แท้จริงแล้วคุณไม่เสียอะไรเลย ถ้าแสดงสีหน้าและท่าทีไม่เหมาะสม กลับจะเกิดผลลบ ผิดกับ ความหมายที่คุณต้องการสื่ออย่างตรงกันข้าม วิธีแก้ไขคือ เวลาพูดคุณต้องสบตาเขา ทำให้เขารู้สึกว่าท่าทีการพูดของคุณมีลักษณะยืนยัน ถ้าสีหน้าท่าทีขณะพูดของคุณแสดงถึงความละอายหรือขาดความมั่นใจ เขาดูออก แล้วก็จะไม่เชื่อเหตุผลที่คุณพูดอีก
3. ไม่ต้องอธิบายมากไป
ถ้าคุณยกเหตุผลมากมายขึ้นมาอธิบายการตัดสินใจของคุณ แสดงว่าความตั้งใจของคุณยังไม่มั่นคงพอ ต้องรอการพิสูจน์ การให้คำอธิบายมากไป จะทำให้คนอื่นเกิดการเข้าใจผิด คิดว่าคุณละอายใจ และเป็นไปได้ที่จะกล่อมคุณให้เปลี่ยนความตั้งใจ การหาข้ออ้างมากมายเป็นเหตุผลเพื่ออธิบายการตัดสินใจของคุณเอง คือ วิธีการที่สะท้อนว่าคุณไม่เคารพตนเอง เพราะถ้าทำอะไรด้วยความระมัดระวังและพูดจารับผิดชอบแล้ว ไม่จำเป็นที่คุณต้องหาข้ออ้างมากมาย เพื่ออธิบายการตัดสินใจของคุณ และพิสูจน์ว่าเหตุผลของคุณนั้นถูกต้อง
4. ให้เวลาไตร่ตรองแก่ตัวคุณเอง
ถึงคุณจะตัดสินใจเด็ดขาด บางครั้งยังคุณอาจต้องเผชิญกับปัญหาที่คุณนั้นก็ยังไม่มั่นใจ ต้องใช้เวลาไตร่ตรองหลายวันสำหรับตัดสินใจ ในสภาพเช่นนี้ คุณต้องแสดงออกว่ามั่นใจและพูดถึงวิธีคิดของคุณเองให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ผมขอไตร่ตรองดูก่อน ค่อยให้คำตอบคุณทีหลัง"
- ถ้าคุณไม่มั่นใจในเรื่องราว ก็ไม่ควรรีบตอบว่า "ได้" หรือ "ไม่" เพียงเพราะรู้สึกได้ถึงแรงกดดัน
- ให้เวลาไตร่ตรองอย่างเต็มที่แก่ตัวคุณเอง เพื่อตัดสินใจในแบบที่ตัวคุณเองพอใจมากที่สุด
5. เวลาปฏิเสธ ต้องใช้คำพูดเชิงบวกให้กำลังใจบ้าง
เวลาปฏิเสธ ควรใช้คำพูดเชิงบวกให้กำลังใจอย่างจริงใจ
สมมติว่า เพื่อนคนหนึ่งมาขอยืมเงิน แต่คุณไม่ต้องการให้ยืม คุณอาจแสดงความเห็นใจก่อน แล้วพูดถึงเหตุผลที่คุณให้ยืมไม่ได้ สุดท้ายคุณก็ค่อยใช้คำพูดเชิงบวกให้กำลังใจเขา
"ฉันดีใจที่คุณเชื่อถือฉันแบบนี้ ฉันก็อยากจะช่วยเหลือคุณอยู่เหมือนกัน"
"มิตรภาพระหว่างเรานั้น ฉันให้ความสำคัญอย่างยิ่งเสมอมา"
"ฉันรู้ว่า มิตรภาพระหว่างเราเป็นมาด้วยดีตลอด มิตรภาพของเราต้องแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในวันข้างหน้า"
"ฉันนับถือคุณมาก ฉันจึงไม่อยากให้เรื่องใดก็ตาม เป็นอุปสรรคต่อมิตรภาพของเรา"
หลังจากนั้น คุณอาจจะพูดให้กำลังใจเขา หรือ ตบไหล่เขา หรือ ให้คำแนะนำบางอย่างที่เป็นไปได้ แล้วค่อยพูดเรื่องอื่นแทน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น