วันเสาร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2558

จดบันทึกอย่างไร? ให้มีประสิทธิภาพสูง


     ถ้าตอนนี้คุณต้องไปเข้าเล็คเชอร์ สิ่งที่คุณเห็นไม่เหมือนกับแต่ก่อน ที่ทุกคนมีปากกาด้ามเก่งคนละแท่ง กับสมุดจดคู่ใจอย่างแน่นอน แต่ทุกคนจะมีโน็ตบุ๊ค แลบท็อบ ไอแพด คนละเครื่อง เอาไว้จดเล็คเชอร์ ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ไปไวพอสมควร...

     ซึ่งแน่นอน เรายอมรับว่าการเรียนโดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มันช่วยเราได้มาก ในยุคที่ความรู้ทุกอย่างสามารถหา ค้นคว้าได้จากโลกออนไลน์ แถมทำงานต่างๆ พรีเซนเทชั่น รายงาน วิจัย หากเรามีคอมพิวเตอร์ใช้ รับรองง่ายกว่าเยอะ ประหยัดเวลามากกว่า สวยกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า

     แต่นั่นคือเรื่องทำงาน ส่วนเรื่องของการ “จดเล็คเชอร์” นั้น มีผลวิจัยล่าสุดออกมาโดย Pam Mueller และ Daniel Oppenheimer จาก Princeton University และ University of California ตามลำดับนั้นบอกว่า การจดเล็คเชอร์ด้วย “มือเขียน” จะเรียนรู้ได้มากกว่าการจดเล็คเชอร์โดยการพิมพ์คอม เพราะอะไร?


1. เพราะ “มือเขียน” ใช้เวลามากกว่า…และทำให้เราได้สังเคราะห์มารอบหนึ่งแล้ว!

      ผลการศึกษาบอกว่า การเขียน กับ การพิมพ์นั้น สมองทำงานต่างกัน เวลาพิมพ์ เรามีแนวโน้มที่จะพิมพ์ทุกอย่างที่เราฟัง โดยไม่คิดอะไรมาก ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง เพราะเราพิมพ์ง่าย พิมพ์เร็ว แต่เวลาเขียนมือนั้น เราไม่สามารถเขียนทุกคำที่อาจารย์พูดได้ เพราะฉะนั้น เวลาเราเขียน เราจะฟัง คิด สรุป และจดจุดที่สำคัญลงมาเท่านั้น นั่นส่งผลให้เราได้สังเคราะห์สิ่งที่อาจารย์พูดมารอบหนึ่งแล้ว ซึ่งดีกว่ามาก


2. เพราะโน๊ตที่ยาวๆ ไม่จำเป็นต้องดีกว่าเสมอไป

      หากคุณคิดว่าการพิมพ์ทุกอย่าง เก็บทุกรายละเอียดแล้วไปอ่านทีหลังย่อมดีกว่า คุณคิดผิด เพราะจากการทดลองให้คนที่พิมพ์ และเขียน ไปสอบจากการฟังเล็คเชอร์นั้น คนที่เขียนมือ ได้คะแนนดีกว่า สาเหตุก็คือ คนเราจะจำได้ดีกว่า เมื่อเขียนด้วยมือตัวเอง สาเหตุแรก เราจำบริบทเรื่องราวของเรื่องที่เราเรียนได้ เราสรุปเองกับหัว ทุกอย่าง ทำให้เราจำได้ดีกว่า และสอง ตัวเนื้อหา ที่ผ่านมือ ผ่านตา ผ่านความคิดเรา แม้เป็นเรื่องเล็กๆ ยิบย่อย เราก็ยังจำได้


      อย่างไรก็ตาม ในข้อสอบที่มีคำถามสองประเภทนั่นคือ Factual questions กับ Conceptual questions นั้น ในคำถามแบบแรก ที่เป็นเรื่องของความจริง รายละเอียด ข้อมูล คนสองพวกได้คะแนนไม่ต่างกันมาก คนที่พิมพ์อาจจะได้มากกว่านิดหน่อย แต่เรื่องของ Concept ที่เป็น คำถามที่ต้องคิด วิเคราะห์ก่อน คนที่เขียนมือทำคะแนนได้มากกว่ามาก


3. Labtop ทำให้เราวอกแวกได้ง่ายกว่ามาก!

      ผลวิจัยบอกว่า นักเรียนโดยค่าเฉลี่ย ใช้เวลาราว 40% ของชั่วโมงเรียน วอกแวกไปกับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่เนื้อหาวิชาที่เรียน หากใช้แล็บท็อบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตอบเมล์ เล่นเว็บ ดูวิดีโอ เป็นต้น ซึ่งจากการทำวิจัยพบว่า นี่มีส่วนส่งผลให้คะแนนการเรียนที่ลดลง ผลสอบที่แย่ลงอีกด้วย

---

      และหากว่าคุณสนใจการจดเล็คเชอร์ด้วย “มือเขียน” ขึ้นมาบ้างแล้ว…นี่คือเคล็ดลับง่ายๆ ที่เราเอามาฝากคุณ!


1. ใช้สัญลักษณ์แทนคำที่ยาว

Teeline

      หากคุณต้องการจดได้เร็ว ลองใช้สัญลักษณ์ หรือตัวย่อดู อะไรละได้ละ แต่ต้องเป็นสิ่งที่คุณเข้าใจ เพราะมิฉะนั้น คุณจะงงเองเวลาย้อนกลับไปอ่านเล็คเชอร์นั้นทีหลัง ตัวอย่างเช่น ที่อังกฤษ มีการใช้ระบบ Teeline ในการเทรนนักข่าวที่ต้องจดเร็วๆ ด้วยการละตัวอักษรที่ไม่จำเป็น หรือตัวที่ไม่ออกเสียงออกไปเวลาจด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ คุณควรเลือกเองว่า แบบไหนที่เหมาะกับคุณ


2. ใช้รูปแบบการจดที่คุณถนัด

      หากคุณพึ่งเปลี่ยนมาจากการจดใน Word doc มาเป็นเขียนมือ ลองใช้รูปแบบเดิมที่คุณคุ้นเคย มาปรับใช้สิ ทั้งการใช้ตัวใหญ่ตอนขึ้นหัวเรื่อง มีเลขหัวข้อชัดเจน นอกจากนี้เวลาจดควรมีเนื้อที่เว้นว่างพอสมควร เอาไว้เขียนเติมตอนอ่านสอบนั่นเอง


3. หาซื้อลูกบอลแก้เมื่อยมือ


      การเขียนนานๆ จะทำให้มือของคุณเกร็ง ปวด เมื่อย มันจะมีลูกบอลที่มีขายตามร้าน เอาไว้บีบคลึงเวลาเมื่อยจากการเขียนนานๆ ซึ่งช่วยได้มากเลยทีเดียว


4. ลองดูการจดแบบ Cornell ดูสิ



      ถึงจะเก่า แต่เจ๋งมาก มันคือการที่คุณแบ่งกระดาษออกเป็น 2 คอลัมน์ ด้านขวาใหญ่กว่าด้านซ้าย ด้านขวาเอาไว้จดรายละเอียดทุกอย่าง ภาพ ตาราง อาจจะเละๆ หน่อยในตอนท้าย แต่ข้างซ้ายคือที่ๆ คุณจะเขียนข้อสรุปใหญ่ ที่เอามาจากด้านขวา นั่นเอง

      นอกจากนี้ด้านล่างของหน้าควรเว้นไว้ และเอาไว้เขียนสรุปทุกอย่างบนหน้า ลงเป็นข้อสั้นๆ เอาไว้อ่านทีหลังตอนสอบนั่นเอง


5. เลือกปากกาที่ดี

      การจดเล็กเชอร์ที่ขาดไม่ได้คือกระดาษ และปากกา ซึ่งกระดาษอาจจะไม่มีให้เลือกมากนัก แต่ปากกาคุณสามารถเลือกอันที่คุณถนัดมือที่สุด ลื่นที่สุด ได้ ซึ่งอันนี้ความชอบแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เอาเป็นอย่า อย่ามองข้ามความสำคัญของปากกาก็แล้วกัน


Cr. Kiitdoo.com


บทความก่อนหน้านี้ที่เกี่ยวข้อง (Link)
1. สไตล์การจดบันทึกที่คุณอาจนึกไม่ถึง
2. ใช้ To Do List อย่างไร? ให้มีประสิทธิภาพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น