วันนี้ผมขอนำเสนอบทความบางส่วนที่น่าสนใจ อีกเช่นเคยจากเอกสาร Trend 2015 ที่จัดทำและเรียบเรียงขึ้นโดย TCDC มาแบ่งปันให้ชาว Blogger และท่านผู้อ่านทุกท่าน
(บทความครั้งก่อน: Trend 2015: อิสระจากกาลเวลา (Time Maverick))
---
ยุคแห่งการเข้าใจความหมาย (The Age of Context)
การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในยุคก่อนต้องอาศัยกระดาษ น้ำหมึก และเครื่องพิมพ์เป็นสำคัญ การเข้าถึงจำกัดอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อยของประชากรทั้งหมด ผลสะท้อนในด้านตรงกันข้ามที่กล่าวมาข้างต้น นั่นคือการเข้าสู่ Information Age หรือ ยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร คือเปลี่ยนข้อจำกัดดังกล่าวและเผยแพร่ให้กลายเป็นใครก็ได้ที่มีสัญญาณบรอดแบรนด์หรือ Wi-Fi เริ่มตั้งแต่ระบบย่อยสุดอย่างเครือข่ายภายในบ้าน ออฟฟิศขนาดเล็กแบบ Intranet กระทั่งครอบคลุมทั่วโลกด้วยอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่เพียงเปิดโอกาสในการสร้างข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังผู้รับจำนวนหลายล้านคน เพราะนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น
คนส่วนใหญ่ต่างต้องการเป็นส่วนหนึ่งของโลกด้วยสังคมเครือข่าย และระบบอินเทอร์เน็ตก็มอบช่องทางที่ตอบสนองและรองรับการใช้งานในทุกบทบาทหน้าที่และสอดประสานไปกับผู้คนอย่างแยบยลตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน
โดยจากผลสำรวจพบว่า ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนกว่า 1,500 ล้านคนทั่วโลก ทั้งยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและยังคาดการณ์ต่อว่าผู้คนส่วนใหญ่จะใช้การติดต่อสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตมากกว่าระหว่างบุคคลด้วยกันเองถึง 30 เท่าภายในปี 2020 ซึ่งผลจากการเชื่อมต่อและส่งออกข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ทำให้เกิด Big Data ขนาดใหญ่ที่จะมีประโยชน์ในการมองหาทิศทาง สถิติ ผลชี้วัดทางสังคม และ ความนิยมชมชอบในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะบ่งบอกถึงแนวทางสำหรับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้นหรือที่เรียกว่า Crowd Source
ดังนั้น Data จึงเป็นต้นทุนที่มีมูลค่า เมื่อถึงเวลาของการใช้และต้องมีการจัดเก็บอย่างเป็นที่เป็นทางและมีมาตรฐาน ระบบ Cloud จึงเป็นธุรกิจสายพานสำหรับถึงข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งนับวันจะเติบโตและมีความจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2012 อุตสาหกรรมการเก็บข้อมูลหรือ ฮารฺดแวร์ที่ใช้เก็บข้อมูลหรือฮาร์ดแวร์ที่ใช้เก็บข้อมูลมีรายได้กว่า 1,830 ล้านดอลล่าร์ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,280 ล้านดอลล่าร์ในปี 2017
ความก้าวหน้าในระบบอินเทอร์เน็ตได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในศตวรรษนี้ และกำลังก้าวสู่อีกขั้นกับ Internet of Things (IoT) ซึ่งไม่เพียงรองรับการเชื่อมต่อที่เกิดจากคนสู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่รวมถึงการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เครื่องไม้ใช้สอยในชีวิตประจำวันกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตด้วยกันเอง หรือที่เรียกสั้นๆว่า M2M (Machine to Machine)
M2M ถือเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่สำหรับการขยายฐานผู้ใช้บริการจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบบเดิมให้เข้าสู่ "หมู่บ้านโลก (Global Villages)" ยกระดับจาก E-Society ให้กลายเป็นการเชื่อมต่อในทุกมิติอย่างแท้จริงแบบ "เมืองฉลาด (Smart City)" ซึ่งเท่ากับเป็นการประมวลผลข้อมูลที่เคยมากล้นในเชิงปริมาณและกระจัดกระจายหรือ Big Data สู่การใช้งานจริง
ตัวอย่างเช่น
Nike Fuelband เริ่มนำร่องด้วยการใส่เซ็นเซอร์ไว้ในตัวรองเท้า ดังนั้นเมื่อผู้ใช้เริ่มเดิน ออกวิ่งหรือทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งระยะทาง ระดับการเต้นของหัวใจ เพื่อประมวลผลในสายรัดข้อมือ และส่งต่อไปในระบบ Cloud ก่อนที่จะรายงานผลสถิตินั้นในอุปกรณ์อื่นๆอย่าง สมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์
Google Glass แว่นอัจฉริยะที่สามารถประมวลผลผลข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ผ่านจอรับภาพในระยะสายตา และไม่เพียงแค่นั้น Google ยังขยายธุรกิจเข้าไปยังอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน รถยนต์ไร้คนขับ ล่าสุดได้ทุ่มเงินมากกว่า 3,200 ล้านดอลล่าร์เข้าซื้อกิจการ เนสท์ แลบส์ (Nest Labs) ผู้นำด้านนวัตกรรมด้านเครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องตรวจจับควันในอาคารบ้านเรือน รวมถึงการติดตามความเคลื่อนไหวของผู้อาศัยในอาคาร เพื่อจัดเก็บไว้ในระบบ Cloud โดยถือเป็นผู้นำด้าน IoT ชั้นแนวหน้า นั่นเพราะ Google มองเห็นโอกาสมากมายในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับครัวเรือนและอุปกรณ์สำหรับชีวิตประจำวัน
การลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจของบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์เครือข่ายซิสโก้ ที่ระบุว่าแม้ปัจจุบันจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นที่อุปกรณ์จะรองรับระบบอินเทอร์เน็ต แต่มีแนวโน้มที่ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปี 2015 จะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตถึง 25 ล้านชิ้น และมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 50 ล้านชิ้นในปี 2020 ซึ่งมีมูลค่ากว่า 14 ล้านดอลล่าร์ เนื่องจากอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ติดตั้งในอุปกรณ์ และ เครื่องมือในการส่งสัญญาณผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจะมีราคาลดลงถึง 80-90% จากราคาปัจจุบัน
ซึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ไม่เพียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่เครื่องใช้ไม้สอยในบ้านแสนธรรมดาอย่างหลอดไฟ จักรยาน รถยนต์ กระทั่งที่จอดรถหรือรถประจำทางจะผูกติดกับระบบเซนเซอร์ ก่อนส่งสัญญาณผ่านระบบเครือข่ายซึ่งล้วนแล้วเป็นหนึ่งในโลก IoT ทั้งสิ้น ดังนั้นกฎข้อใหม่สำหรับอุปกรณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ก็คือ ทุกสิ่งสามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้
---
แต่อีกมุมหนึ่ง ในปัจจุบัน ข้อมูลจำนวนมหาศาลแบบเรียวไทม์นี้ที่มากเกินขีดจำกัดกำลังทำให้คนยุคใหม่บางกลุ่มเสียศูนย์ได้เช่นกัน จึงมีกลุ่มชมรมและกลุ่มกิจกรรมเกิดขึ้น เพื่อปรับและสร้างสมดุลให้กับชีวิตยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการรับข้อมูลข่าวสาร การใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันให้น้อยลงไม่ให้เกินพอดี ด้วยมุ่งเน้นการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆทดแทน
ยกตัวอย่างเช่น
กิจกรรมเต้น เวิร์กช็อปศิลปะ ที่เป็นหนึ่งในหลายกิจกรรมของกลุ่ม Digital Detox นำเสนอเพื่อสร้างพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม โดยผู้สนใจสามารถสมัครเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่จะหมุนเวียนไปแต่ละอีกครั้ง จุดมุ่งหมายหลัก คือ การกลับไปสู่พื้นฐานของความเป็นมนุษย์ซึ่งมิได้เป็นการต่อต้านการใช้เทคโนโลยีแต่เป็นการใช้อย่างมีสติ เช่น การออกแคมป์ในที่เงียบสงบและปราศจากการรบกวนจากเสียงเรียกข้อมูลจำนวนมาก การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน กิจกรรมเพื่อสุขภาพ เช่น โยคะ กิจกรรมทั้งหมดต่างต้องการให้ผู้คนเว้นระยะจากอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีกำหนดเวลา ไม่มีภาพจากจอสัมผัส ไม่มีสัญญาณเครือข่าย มีเพียงความจำเป็นจากสิ่งพื้นฐานเท่านั้น
แม้แต่ธุรกิจบริการอย่างโรงแรมก็มีการนำเสนอ แพกเกจพิเศษสำหรับนักเดินทางที่ต้องการอยู่ห่างจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นขณะอยู่ในช่วงพักผ่อน
โรงแรมหรู The Westin Dublin ในประเทศไอร์แลนด์ เปิดแพกเกจพิเศษในชื่อ Digital Detox โดยนำเสนอรูปแบบบริการพักผ่อนอย่างแท้จริงสำหรับลูกค้า คล้ายการปิดสวิตซ์อุปกรณ์ทุกชนิด โดยลูกค้าจะต้องนำอุปกรณ์ต่างๆที่นำมา ฝากไว้ให้กับทางโรงแรมก่อนจะรับกลับในวันสุดท้ายก่อนเข้าพัก เพื่อเตรียมเข้าสู่แพกเกจที่นำเสนอกิจกรรมสร้างความผ่อนคลายมากมาย ตั้งแต่อาหารเลิศรสที่จะเสิร์ฟให้ถึงห้อง การทำสปาจากผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กิจกรรมสำรวจเมือง เกมต่างๆคล้ายเป็นการหวนกลับไปอยู่ในช่วงเวลาก่อนที่เทคโนโลยีจะมีอิทธิพลต่อผู้ใช้ในทุกวันนี้
แม้กระทั่งในแวดวงเทคโนโลยีด้วยกัน ก็ยังมีโปรแกรมและแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยแอปพลิเคชันใหม่จาก RescueTime นอกจากจะช่วยจัดสรรเวลาของผู้ใช้ในกิจวัตรตลอดทั้งวันแล้ว ยังสามารถกำหนดเวลาการทำงานและแบ่งสรรเวลาว่างสำหรับการพูดคุยผ่านชุมชนเครือข่ายต่างๆ เพื่อช่วยให้ใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ผู้ใช้สามารถจำกัดระยะเวลา อาทิ 20 นาที หรือ 30 นาที สำหรับการใช้เว็บไซต์หรือเครือข่ายออนไลน์ หรือสั่งให้ระบบล็อกไม่ให้เข้าใช้งานได้ หากเกินระยะเวลาที่กำหนด เช่น 6 หรือ 8 ชั่วโมงต่อวัน
---
ผมหวังว่า Trend 2015 ในบทความนี้จะช่วยให้คุณประเมินและสามารถปรับตัวกับทิศทางและผลกระทบจากเทคโนโลยีข้อมูลที่เข้ามาหาคุณมากขึ้นเรื่อยๆได้บ้าง ถ้าคุณสามารถแบ่งสัดส่วนของเวลาการใช้เทคโนโลยีกับชีวิตประจำวัน และใช้เทคโนโลยีที่ได้การพัฒนาให้ได้อย่างมีคุณค่า มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อคุณมากที่สุด
Thanks for Credit: TCDC (Thailand Creative & Design Center)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น