วันจันทร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
เอ่อ... กับ อืม...
นักภาษาศาสตร์พบว่าคนอเมริกันใช้ “เอ่อ...” น้อยลง แต่ใช้ “อืม...” มากขึ้น ในฐานะที่คุณเป็นผู้ใช้ภาษา คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?
ดูเหมือนว่าคำว่า “อืม...” เสียงยาวกว่าและมักใช้สำหรับการลังเลที่มีความสำคัญกว่าการใช้คำว่า “เอ่อ...” มาร์ก ลิเบอร์แมน นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียกล่าว
ผู้สื่อข่าวบอกว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดเช่นนั้น แต่จากการศึกษาร่วม 10 ปีของนายลิเบอร์แมน เรื่องลักษณะการออกเสียงในขณะที่ผู้พูดหยุดคิดชั่วขณะอาจทำให้หลายคนประหลาดใจ เพราะเขาพบว่า เมื่อคนอเมริกันมีอายุมากขึ้น จะใช้ “เอ่อ...” มากขึ้นตามไปด้วย และไม่ว่าจะอายุแค่ไหนก็ตาม ผู้ชายใช้ “เอ่อ...” มากกว่าผู้หญิง
แต่ถ้ามาดูที่คำว่า “อืม...” ผลที่ได้กลับตรงข้ามกัน คนอายุน้อยใช้คำว่า “อืม...” บ่อยกว่าคนที่มีอายุมาก และไม่ว่าจะอายุเท่าไร ผู้หญิงใช้คำว่า “อืม...” มากกว่าผู้ชาย ไม่มีใครแม้แต่นักภาษาศาสตร์เองที่คาดว่าผลจะออกมาเป็นเช่นนี้ เพราะมักเชื่อกันว่า สิ่งที่มีผลต่อการเลือกใช้คำทั้งสอง ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้พูดลังเลที่จะพูดต่อ มากกว่าขึ้นอยู่กับเพศหรืออายุ
เมื่อปีที่ผ่านมา นายลิเบอร์แมนเข้าร่วมประชุมทางวิชาการที่เมืองโกรนิงเงิน ในเนเธอร์แลนด์ และได้คุยกับนักวิจัยกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง นักวิจัยกลุ่มดังกล่าวจึงสนใจและได้เริ่มศึกษาการใช้ “เอ่อ...” กับ “อืม...”ในผู้ใช้ภาษาอื่นนอกเหนือไปจากภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน โดยได้ศึกษาในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาอังกฤษสำเนียงสกอต ภาษาเยอรมัน ภาษาเดนมาร์ก ภาษาดัตช์ และภาษานอร์เวย์
มาร์ทิจ์น วีลลิง นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน บอกว่าผลวิจัยออกมาเหมือนกับในกลุ่มคนที่พูดภาษาอังกฤษแบบอเมริกันทุกอย่าง เหมือนกับผลวิจัยของนายลิเบอร์แมน ซึ่งรวมถึงการที่ ผู้หญิงและคนรุ่นเยาว์มักใช้คำว่า “อืม...” มากกว่า “เอ่อ...” วีลลิงได้ข้อสรุปว่าเรากำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงทางภาษาโดยมีผู้หญิงและคนรุ่นเยาว์เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างไรก็ตามยังคงต้องหาคำตอบต่อไปว่า
เหตุใด “อืม...” จึงจะกลายเป็นคำที่เราจะใช้มากขึ้นในอนาคต?
โจเซฟ ฟรูห์วาลด์ นักสังคมภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ เห็นด้วยว่า “อืม...” และ “เอ่อ...” อาจจะถูกใช้ในการสื่อความหมายที่ต่างกัน แต่เขาเห็นว่าทั้งสองเสียงนี้เป็นคำที่ใช้แทนกันได้
ฟรูห์วาลด์ กล่าวว่า เมื่อเรามีทางเลือกในการออกเสียง 2 แบบ เรามักจะใช้แบบใดแบบหนึ่งบ่อยกว่า หรือสลับใช้ไปมา จนกระทั่งมันกลายเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยไปในที่สุด ส่วนทำไม “อืม...” จะถูกใช้บ่อยขึ้น เขาเห็นว่าก็เพราะมีแค่สองทางเลือกและอาจเป็นเรื่องบังเอิญก็ได้ โดยที่เราไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้ว ทำไมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้ภาษา หรือต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นอีกกับการใช้ภาษา ฟรูห์วาลด์ชี้ว่านักภาษาศาสตร์ทำนายอนาคตได้ไม่แม่นนัก ซึ่งอาจจะแย่กว่านักอุตุนิยมวิทยาด้วยซ้ำ แถมภาษาของมนุษย์ก็มีแต่อะไรที่สับสนวุ่นวายยิ่งกว่าเรื่องอากาศเสียอีก
และเขายังเสริมในเรื่องแนวโน้มการใช้ภาษา ที่คำในภาษาหนึ่งไปปรากฏอยู่ในอีกภาษาหนึ่ง ว่าเป็นเรื่องที่เห็นบ่อย โดยเฉพาะในคนที่พูดสองภาษาขึ้นไป เป็นลักษณะการยืมคำของภาษาหนึ่งไปใช้ในอีกภาษา ทำให้ภาษามีวิวัฒนาการไป ที่เห็นได้ชัดคืออิทธิพลของภาษาอังกฤษที่มีต่อภาษาอื่น
แต่ตอนนี้เรายังไม่รู้ชัดเจนว่า นั่นเป็นเรื่องที่เกิดกับการใช้คำว่า “อืม...” ด้วยหรือไม่ ดังนั้นจะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม และในอนาคต คำว่า “เอิ่ม...” กับ “อืม...” อาจได้รับความนิยมสลับไปสลับมา หรืออาจจะเป็นไปได้เช่นกันว่า คำว่า “เอ่อ...” อาจหายไปจากคลังศัพท์ก็ได้
แล้วคุณล่ะ? คิดว่าคุณเคยพูดคำไหนบ่อยกว่ากัน คุณพูดคำว่า “อืม...” และ “เอ่อ...” ตอนไหนในสถานการณ์ใดบ้าง
Cr. BBC Thai
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น