วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

อยากเป็นผู้ฟังที่ดี ทำได้อย่างไร?


     การฟังไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนมากแล้วในขณะที่คุณคิดว่าคุณกำลังตั้งใจฟังนั้น ที่จริงคุณกำลังคิดว่า คุณจะพูดว่าอะไรต่อไปเสียมากกว่า การตั้งใจฟังจะต้องเป็นในขณะที่คุณลบความคิดของคุณเองออก รวมทั้งความชอบและตั้งใจฟังสิ่งที่ผู้อื่นกำลังบอกคุณ การตั้งใจฟังใครสักคนเป็นการให้เกียรติอย่างสูงต่อผู้พูด

     การสื่อสารระหว่างบุคคลโดยมากแล้วจะหมายถึงคำพูด แต่ถึงกระนั้นคำพูดก็เป็นเพียงสื่อที่ใช้ในการแสดงความคิดและการสื่อสารที่แท้จริงจะเกิดเมื่อฝ่ายหนึ่งรับรู้ความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง คุณต้องทำความเข้าใจให้ลึกไปกว่าคำพูด ไปจนถึงความคิดหรือเจตนาที่คำพูดนั้นสื่อหรือแฝงไว้

     การอ่านใจผู้อื่นเป็นศิลปะของการตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูด และสังเกตสิ่งที่เขาทำและสรุปได้แม่นยำว่าเขากำลังคิดอะไรและจะทำอะไร ทั้งหมดนี่เป็นกระบวนการธรรมชาติแต่คุณต้องเปิดกว้าง สังเกตอย่างไม่ลำเอียงและรับรู้โดยไม่แบ่งแยก คุณต้องใช้วิจารณญาณอันเป็นธรรมชาติประกอบการตัดสินใจของคุณเองว่าคุณจะปฏิบัติต่อผู้นั้นอย่างไร

     การฟังเป็นสิ่งที่ฝึกฝนกันได้ คุณจำเป็นต้องมีความเต็มใจที่จะฟัง

     จงคิดว่า
  • พวกเขากำลังพยายามบอกอะไร?
  • ความคิดหลักของเขาคืออะไร?
  • คุณจะช่วยให้เขาพูดให้ชัดเจนขึ้นได้อย่างไร?
  • คุณจะพูดถึงความคิดที่เขาพยายามสื่อนี้ว่าอย่างไร?

     การฟังใครสักคน ไม่ได้หมายความว่าคุณเห็นด้วยกับเขา คุณควรทำความเข้าใจความคิดของเขาให้ถ่องแท้แล้วถกเถียงกัน แต่การกระทำของคุณสามารถบอกเขาได้ว่าคุณยังยอมรับนับถือเขาในฐานะบุคคลคนหนึ่ง อาจต้องช่วยเขาให้การโต้แย้งของเขามีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อคุณเข้าใจความคิดแล้วย้อนหลังไปสักนิดในใจคุณเพื่อประเมินมัน หากคุณเข้าใจเสียแต่แรกในความคิดทั้งสองฝ่ายแล้วการวิจารณ์โต้แย้งจะอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจ หากคุณเห็นด้วยคุณก็จะรู้ดีว่าคุณเห็นด้วยกับอะไร


     วิธีการสำคัญสำหรับการฟัง
  1. เปิดใจให้กว้าง คิดไว้ว่า "คนพูดเขากำลังพูดอะไร"
  2. คิดให้ไว คิดล่วงหน้าจากสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูด เพื่อศึกษาทิศทางการสนทนา รวมถึงวิเคราะห์ สร้างหลักเหตุและผล และมองหาจุดแข็งจุดอ่อนของการสนทนา
  3. สรุปสิ่งที่เขาพูดมาด้วยคำพูดของคุณเอง หากไม่ตรงกับที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการ จงฟังอีกครั้งหนึ่งและสรุปออกมาใหม่ จนกระทั่งได้ข้อสรุปที่เข้าใจตรงกันระหว่างผู้พูดและผู้ฟัง
  4. คำที่คนหนึ่งใช้ อาจมีความหมายไม่ตรงกับคำเดียวกันเมื่อใช้โดยอีกคนหนึ่ง คุณต้องถามให้แน่ใจถึงความหมายโดยอาจใช้คำอื่นแต่ความหมายเดียวกันกับที่คุณเข้าใจ เพื่อความกระจ่าง
  5. อย่าเพิ่งตัดสินคำพูดของคนอื่นจนกว่าคุณจะแน่ใจว่าคุณเข้าใจดี และได้ทดสอบแล้วว่าคุณเข้าใจถูกต้อง
  6. อย่าสนใจในสไตล์หรือสำนวนการพูดของแต่ละคน เพราะคนแต่ละคนมีวิธีการในการพูดแตกต่างกัน คุณต้องตั้งใจฟังและพยายามเข้าใจความหมายที่อยู่ในคำพูดเหล่านั้น
  7. เมื่อคุณเข้าใจแล้ว ใช้เวลาให้มากพอ รอสักนิดก่อนจะโต้ตอบอะไร ใช้ความคิดรวดเร็วเรียบเรียงความคิดของคุณ เพื่อจะได้สื่อความคิดไว้ชัดเจน 

Cr. 101 คัมภีร์ วิถีของผู้จัดการยุคใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น