วันจันทร์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2558

คนรุ่นใหม่ฉลาดขึ้นจริงหรือไม่?


     นักวิจัยพบค่าระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวโดยเฉลี่ยของผู้คนสูงขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา แต่ยังน่าสงสัยว่า อะไรที่เป็นสาเหตุเบื้องหลัง และนั่นหมายความว่า คนรุ่นใหม่ฉลาดขึ้นกว่าคนรุ่นก่อนๆ จริงหรือไม่?

     ทีมนักวิจัยจากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน วิเคราะห์ข้อมูลการทดสอบไอคิวจากในอดีต ที่มีผู้ทำไว้แล้ว 405 การทดสอบ การวิเคราะห์นี้เป็นการใช้ข้อมูลจากการทดสอบไอคิวของคน 200,000 คน จาก 48 ประเทศทั่วโลก ในช่วง 64 ปีที่ผ่านมา

     นักวิจัยมุ่งวิเคราะห์โดยใช้คะแนนในส่วนการทดสอบเชาวน์ปัญญาที่เรียกว่า Raven’s Progressive Matrices ซึ่งทดสอบการใช้เหตุผลโดยไม่ต้องใช้ภาษา และพบว่าโดยเฉลี่ยผู้คนทั่วโลกมีไอคิวสูงขึ้นราว 20 นับตั้งแต่ปี 1950 เป็นต้นมา โดยเป็นค่าไอคิวที่สูงขึ้นแบบก้าวกระโดดทีเดียว เมื่อพิจารณาว่าแบบทดสอบไอคิวในปัจจุบันออกแบบมาให้มีค่าเฉลี่ยที่ 100

     อย่างไรก็ตาม พบว่าผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา มีค่าไอคิวสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนและอินเดีย แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว แนวโน้มของไอคิวมีความหลากหลายกว่า เช่นในสหรัฐอเมริกาค่าไอคิวเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แต่กลับมีแนวโน้มลดต่ำลงในสหราชอาณาจักร

     อีกหลักฐานหนึ่งที่แสดงว่า ผู้คนทั่วโลกมีไอคิวสูงขึ้น ก็คือผลการตรวจแบบทดสอบไอคิวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่ามีความยากมากขึ้นเรื่อยๆ ขนาดที่ว่าหากชาวอเมริกันทุกวันนี้ทำแบบทดสอบไอคิวของเมื่อร้อยปีที่แล้ว จะได้ค่าไอคิวสูงถึง 130 และหากชาวอเมริกันเมื่อร้อยปีก่อนมาทำแบบทดสอบไอคิวของทุกวันนี้ อาจได้ค่าไอคิวเพียง 70 ซึ่งเป็นระดับของผู้พิการทางสติปัญญา

     เจมส์ ฟลินน์ นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอทาโกของนิวซีแลนด์ ซึ่งศึกษาในเรื่องการทดสอบเชาวน์ปัญญาระบุว่า การศึกษาสมัยใหม่ซึ่งไม่เน้นการท่องจำอีกต่อไป แต่เน้นการคิดหาเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการใช้ตรรกะเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นนามธรรม ทำให้ผู้คนในปัจจุบันสามารถทำข้อสอบวัดเชาวน์ปัญญาได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การศึกษาสมัยใหม่ทำให้มีความคุ้นชินกับแรงกดดันในการสอบ และมีความฉลาดในการเลือกใช้เทคนิคทำข้อสอบแบบต่างๆมากขึ้นด้วย

     ปัจจัยอื่นๆ เช่น โภชนาการที่ดีขึ้น รวมทั้งการที่โลกมีการสื่อสารกันด้วยภาพและสัญลักษณ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นกว่าแต่ก่อน อาจช่วยให้ผู้คนมีไอคิวสูงขึ้นได้เช่นกัน เพราะเชื่อว่าช่วยกระตุ้นความสามารถคิดวิเคราะห์ของสมอง

     นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เช่น การที่ผู้คนต้องทำงานแบบที่ใช้การคิดวิเคราะห์มากขึ้น หรือการที่ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ทำให้เด็กได้พูดคุยและเรียนรู้จากผู้ใหญ่มากขึ้น และส่งผลต่อไอคิวที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมเต็มขั้นแล้วเช่นในสแกนดิเนเวีย กลับมีแนวโน้มการเพิ่มของไอคิวชะลอตัวลง

     อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าผู้คนในปัจจุบันฉลาดกว่าคนรุ่นก่อนหรือไม่ เพราะการดำรงชีวิตในสภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ต้องใช้ทักษะในการคิดต่างแบบกัน และใช้งานสมองในส่วนที่ต่างกันด้วย

Cr. BBC Thai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น