วันเสาร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2558
ข้อคิดจากเรื่องเล่า: ความฝันริมถนน
เพื่อนบ้านคนหนึ่งเก็บหนังสือสารานุกรมได้จากถังขยะแล้วมอบให้เธอ ลิซกล่าวคำขอบคุณ
แม้พ่อของลิซเป็นขี้ยา แต่ก็ปลูกฝังให้เธอรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ความจริงพ่อเคยเป็นคนที่มีอนาคต เรียนระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก รักการอ่าน แต่ทำลายตัวเองและครอบครัวด้วยยาเสพติด ทั้งพ่อกับแม่ติดเฮโรอีนและเป็นเอดส์ ทิ้งให้เธอหาเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เล็ก
ลิซ เมอร์เรย์ เกิดที่เขต เดอะ บรองซ์ เมืองนิวยอร์กในปี 1980 แม่เริ่มติดยาตอนที่ตั้งท้องเธอ ครอบครัวอยู่ด้วยเงินช่วยเหลือของรัฐ แต่พ่อแม่เอาเงินที่รัฐให้เป็นค่าอาหารไปซื้อเฮโรอีน อายุสิบห้า เธอกลายเป็นเด็กจรจัด กินนอนข้างถนนในเมืองนิวยอร์ก บ่อยครั้งเธอต้องเคาะประตูบ้านคนอื่นเพื่อขออาหาร
แม่ของเธอตายเมื่อเธออายุสิบหก ตอนที่โลงศพแม่ถูกดินกลบ เธอก็เริ่มได้คิดและถามตัวเองว่าจะทำอย่างไรกับชีวิตของเธอ แทนที่จะโกรธสาปแช่งชะตาที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้ง เธอตัดสินใจจะใช้แต่ละวันอย่างมีจุดหมาย เธอหวนกลับไปเรียนต่อ โชคดีที่เธอพบครูดีซึ่งมองเห็นศักยภาพของเธอ และให้โอกาสเธออีกครั้ง
วันหนึ่งเธอได้ยินว่าหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทม์ส มีโครงการมอบทุนการศึกษาแก่เด็กยากจนที่เรียนดี จำกัดเพียงหกทุนเท่านั้น โดยส่งไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอจึงมุมานะเรียนหนักขึ้นเพื่อจะชิงทุน เป็นความฝันที่สูงมากสำหรับเด็กข้างถนน
การเรียนหนังสือโดยใช้ริมถนนนิวยอร์กเป็นโต๊ะเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย การชิงทุนการศึกษา นิวยอร์ก ไทม์ส ยิ่งยากเย็นแสนเข็ญ โดยเฉพาะสำหรับเด็กด้อยโอกาสอย่างเธอ ต้องใช้ความมุ่งมั่นและกำลังใจแรงกล้าที่จะฝ่าอุปสรรคของประโยคที่ว่า "เรียนไปทำไม ยังไงก็ไม่มีอะไรดีขึ้น"
บ่อยครั้งเธอต้องนอนบนขบวนรถไฟสายบีจากเขต เดอะ บรองซ์, สถานีรถไฟ และสวนสาธารณะ แต่เธอไม่ทิ้งการเรียน
บนถนนในนิวยอร์ก เธอมองเห็นผู้หญิงถือกระเป๋ากุชชี ชาแนล เดินผ่านวัยรุ่นที่สวมเสื้อผ้าสกปรกเที่ยวขอเศษเหรียญ ความแตกต่างทางชนชั้นถ่างกว้างเหลือเกิน เมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กวุ่นวายเกินกว่าจะมีใครก้มลงมองเด็กจรจัดข้างถนนคนหนึ่ง ในฤดูหนาวสภาพแวดล้อมยิ่งทารุณ เมื่อป่าคอนกรีตปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ไม่ใช่สวรรค์สำหรับคนจรจัดแน่นอน
เธอบอกว่า "ฉันต้องการมากเหลือเกินที่จะประสบความสำเร็จ เข้าฮาร์วาร์ด ได้เงินทุนจาก นิวยอร์ก ไทม์ส… สิ่งที่ต้องการคือความศรัทธานิดหน่อยและการลงมือทำ"
แต่เธอก็ยังฮึดสู้ต่อไป เธอไม่รู้ว่าอะไรเป็นแรงขับให้เธอก้าวต่อไป เมื่อเธอรู้สึกตัวอีกครั้ง เธอกำลังนั่งอยู่ในห้องพักของเธอที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมื่ออายุสิบเก้า เธอกลายเป็นนักศึกษาคณะจิตวิทยา ภายหลังเธอเล่าความรู้สึกยามนั่งในหอพักนักศึกษาวันนั้นว่า "...ความเปล่าเปลี่ยวเฆี่ยนตีฉันอย่างหนัก มันไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านที่ง่ายดายเลย"
เธอจำต้องหยุดเรียนพักใหญ่เมื่อพ่อตายระหว่างที่เธอเรียนฮาร์วาร์ด ก่อนจากโลกไป พ่อทิ้งโน้ตให้เธอว่า "พ่อทิ้งความฝันของพ่อไว้เบื้องหลังนานมาแล้ว แต่พ่อรู้ว่าความฝันเหล่านั้นปลอดภัยในมือลูก..."
และเธอก็สานฝันของพ่อสำเร็จ
หลังเรียนจบและกลายเป็นคนมีชื่อเสียง ลิซ เมอร์เรย์ ร่วมกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ เธอบอกว่า "ฉันอยากให้ลองมองภาพกว้าง เราทุกคนเชื่อมโยงกัน มันเป็นวงจร ผู้คนสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตผู้คน ความฝันที่ปราศจากการเกื้อหนุนก็เหมือนเครื่องบินไร้ปีก... ฉันอยากให้วิสัยทัศน์ของฉันเป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในโลก"
เธอพยายามบอกให้คนอื่นหัดมองว่า ต่อให้ชีวิตทนทุกข์ทรมานเพียงไร จงอย่าสิ้นหวัง
"เมื่อทุกข์ทรมาน ฉันต้องมองว่าสิ่งต่างๆ สามารถที่จะไม่เหมือนเดิมได้ ฉันเริ่มไขว่คว้าคุณค่าของบทเรียนซึ่งฉันเรียนจากการอาศัยอยู่ตามข้างถนน"
ครั้งหนึ่งเธอพูดให้คนอื่นฟังว่า "เหตุผลที่ฉันกำลังยืนที่นี่ต่อหน้าพวกคุณในวันนี้ก็เพราะฉันเลือก 'ทางสายบน' ซึ่งเป็นทางสายที่ทุกคนเลือกได้"
เรื่องนี้กำลังบอกอะไรเราอยู่?
คนบางคนสามารถสร้างชีวิตจากศูนย์ บางคนสร้างจากชีวิตติดลบ และบางคนไม่ยอมสร้างอะไรเลยจากสิ่งที่มีมากมาย บางทีความแตกต่างของทางสายบนกับทางสายล่างอยู่ที่การมองเห็นคุณค่าของชีวิตของตัวเองหรือไม่ ง่ายๆนี่เอง
หมายเหตุ: ในปี 2003 ชีวิตของ ลิซ เมอร์เรย์ ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Homeless to Harvard
Cr. เรียบเรียงโดย วินทร์ เลียววาริณ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น