วันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2559

ก้อนหินในห้องประชุม


      บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ ผมนำเนื้อหาบทแรกเลยของหนังสือที่ชื่อว่า "สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก" เขียนโดยคุณโอมศิริ วีระกุล เป็นหนังสือใหม่เล่มหนึ่งที่ออกช่วงสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และเป็นหนังสือน่าอ่านมาก ๆ เล่มหนึ่ง เหมาะสำหรับคนทำงาน ด้วยการนำเรื่องต่างๆมาเขียนเปรียบกับเรื่องทำงานด้วยความแยบยลและคมคาย ได้ข้อคิดดี ๆ ดังเรื่องด้านล่างนี้

-- ก้อนหินในห้องประชุม --


      สมมติว่าคุณคือหนึ่งผู้โดยสารที่กำลังเดินทางด้วยรถบัส เพื่อไปยังจุดหมายปลายทาง หนทางที่คุณจะไปต้องผ่านหุบเขาหลายลูก ก่อนที่จะเข้าถึงที่หมาย

      เมื่อรถบัสขับเข้าสู่พื้นที่หุบเขา คุณดันปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน จนแล้วจนรอดคุณทนไม่ไหว จึงต้องรีบเดินไปบอกคนขับรถให้จอดเทียบข้างทาง เพื่อทำกิจธุระให้เสร็จโดยใช้เวลาไม่นาน

      คุณรีบกุลีกุจอลงไปยังหลังพุ่มไม้ กระทั่งทำกิจธุระจนเสร็จ ระหว่างที่คุณกำลังเดินกลับไปยังรถเพียงอีกไม่กี่ก้าวเท่านััน ก้อนหินขนาดใหญ่ได้ร่วงลงมาใส่รถบัสคันที่คุณนั่งอย่างรุนแรง

      รถบัสแตกกระจายไปคนละทิศคนละทาง เม็ดฝุ่นและเศษผงต่างๆ นานากระจายไปทั่วพื้นที่ ร่างกายของคุณเต็มไปด้วยเศษผงและฝุ่นจากเหตุการณ์นี้ และไม่มีผู้โดยสารคนใดรอดชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว รวมถึงคนขับและผู้ช่วยคนขับด้วย

      ชั่วพริบตาเดียว คุณคงจะคิดอย่างทันทีว่า เราโชคดีอะไรเช่นนี้ โชคดีที่ลงจากรถเพราะปวดปัสสาวะ

      ในขณะเดียวกัน หากพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่ง คุณคือสาเหตุการเสียชีวิตของผู้โดยสารคนอื่น ๆ เพราะการตัดสินใจให้คนขับจอดเทียบข้างทางตรงกับจุดที่หินร่วงลงมาทับรถบัสทั้งคันนั่นเอง แต่คำตอบที่สองกลับไม่ได้ผุดขึ้นมาในความคิดของคุณตั้งแต่แรก เพราะกลไกความคิดเราทำงานด้วยการปกป้องตัวเองจากความผิดก่อนเสมอ

      สิ่งเหล่านี้คือ "ความเคยชิน" ที่น่ากลัว ซึ่งมักเกิดขึ้นกับการทำงานเช่นกัน

      คุณมักเห็นลักษณะอาการจากเรื่องก้อนหินร่วงใส่รถบัสทุกครั้งในวงการประชุม ทุกครั้งที่มีการถามไถ่ถึงงานที่ล่าช้า งานที่ขายไม่ได้ งานที่ควรปรับปรุง ฯลฯ ส่วนใหญ่เมื่อคุณถูกโจมตี คุณอาจมักมองหาเงื่อนไขจากคนอื่นก่อนเสมอ และไม่แปลกถ้าคุณจะได้ยินสารพัดเหตุผลจากการจับเพื่อนร่วมงาน ฝ่ายขาย ฝ่ายผลิต มาเป็นตัวประกัน โดยที่ไม่ได้มองย้อนกลับมาที่ตัวเองเลยว่า ตนเป็นสาเหตุที่ทำให้หินก้อนนั้นร่วงใส่รถบัส

      ข้อที่ควรระมัดระวังในการแลกเปลี่ยนในวงประชุม ซึ่งผู้ที่เข้าในวงประชุมก็เปรียบเสมือนผู้โดยสารที่กำลังนั่งรถคันเดียวกันเพื่อไปยังจุดหมายเดียวกัน เช่นกันกับการถกเถียงและแลกเปลี่ยน คุณต้องรับรู้อยู่เสมอว่าวาระการประชุมวันนี้ คืออะไร

      การรับรู้วาระในแลกเปลี่ยนจะช่วยประหยัดเวลาและผลักดันงานไปไกลกว่าเดิม ดีกว่ามัวขับรถออกนอกเส้นทางจนเสียเวลา

     การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวที่มีต่องาน (subjective) และการแสดงความคิดเห็นที่ยึดงานเป็นที่ตั้ง (objective) ต่างเป็นเรื่องที่สำคัญ ที่จะทำให้คุณแยกความคิดเห็นจากผู้ร่วมวงประชุมคนอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี

     ปัญหาการถกเถียงที่ไม่รู้จบ เพราะไม่มีใครแยกความคิดกับความรู้สึกออกจากงาน ซึ่งทำให้คุณหาทางออกที่ดีที่สุดไม่เจอหรือไม่ก็เสียเวลาในการคุ้ยหาคำตอบในเรื่องที่เต็มไปด้วยความคิดและความรู้สึก

     ถ้าคุณรู้ตัวว่ากำลังจะร่วมทางไปกับเพื่อนร่วมงาน คุณจะคุยกันด้วยใจที่เปิดกว้าง มองปัญหาที่งานเป็นหลักมากกว่าปัญหาทางความคิดส่วนตัว หรือไม่ก็แสดงความคิดเห็นออกจากความคิดเอาไว้อย่างชัดเจน

     แม้บางครั้งเหตุการณ์จะเลวร้าย เหมือนหินที่เปรียบเสมือนปัญหาและอารมณ์ร่วงใส่ความรู้สึกของผู้ร่วมวงประชุมระหว่างทางก็ตาม แต่ถ้าต่างคนต่างคิดได้ว่าต้นเหตุของหินก้อนนั้นมาจากแห่งหนใด มากกว่าการโทษดวงชะตาในการทำงาน หินก้อนที่ตกลงมาอาจมีน้ำหนักเป็นเพียงแค่กรวดเล็ก ๆ ก้อนหนึ่งในที่ประชุมเท่านั้นเอง

Cr. สิ่งที่เจ้านายไม่เคยบอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น