วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2559

พลังลึกลับของคำว่า "แต่"


บทความที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ มาจากหนังสือที่ชื่อว่า "ึ7 คำวิเศษ หยิบมาใช้เมื่อไหร่ คนทำตามเมื่อนั้น" สำนักพิมพ์วีเลิร์นเป็นผู้รับมาแปลใหม่จากหนังสือ ที่ชื่อ Magic Words เขียนโดย Tim David

คำว่า "แต่" ก็เป็นหนึ่งในเจ็ดคำที่ผมตั้งใจมาสรุปให้ผู้อ่านหรือชาว Blogger กัน (ถ้าอยากรู้ว่า 6 คำที่เหลือมีคำใดบ้าง ลองหาอ่านกันดูเพิ่มเติมนะ)

----------------------------------

-1-

มนุษย์เรารู้มานานแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นประโยคประเภทไหน ถ้ามีข้อความใดตามหลังคำว่า "แต่" ข้อความนั้นจะมีความสำคัญมากกว่าทุกข้อความทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้ยินคำว่า "แต่" คุณจึงลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้อีกฝ่ายเคยพูดอะไร

ตัวอย่าง

"ฉันก็อยากจะไปกับเธอนะ แต่ไปไม่ได้จริงๆ"
"ที่รัก ผมรักคุณนะ แต่คุณต้องหยุดทำแบบนั้นซะที"

ผลกระทบจากการใช้คำว่า "แต่" มีอยู่สองอย่างคือ ลบล้างสิ่งที่อยู่ก่อนหน้า และ เน้นย้ำสิ่งที่ตามหลังมา

ส่วนใหญ่แล้วพลังของคำนี้มักถูกนำไปใช้โดยไม่ระวังและส่งผลเสียมากกว่าผลดี ดังตัวอย่างต่อไปนี้

ซาราห์: ฉันชอบดอกเจอเรเนียมมากเลยล่ะเท็ด
เท็ด: ใช่ ดอกเจอเรเนียมก็สวยดีนะ

เท็ดสามารถใช้คำว่า "ใช่" เข้าไปในบทสนทนาได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่หากด้วยพูดประโยคดังต่อไปนี้

เท็ด: แต่ผมชอบดอกเบญจมาศมาตลอด

เท็ดกลับทำพลาดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และทำให้ทุกอย่างพัง ซาร่าห์ก็ตกเป็นเหยื่อของคนที่ไม่รู้จักใช้คำว่า "แต่" ให้เป็นประโยชน์

แล้วเราจะแก้ปัญหานี้กันได้อย่างไร?

วิธีแก้มีอยู่ 2 วิธี
วิธีแรกคือ การวางส่วนที่อยากให้ผู้ฟังจดจำเอาไว้หลังคำว่า "แต่"
ส่วนวิธีที่สองคือ ใช้คำว่า "แต่" ในการลบความรู้สึกไม่ดีออกจากจิตใต้สำนึกของผู้ฟัง

เพราะฉะนั้น 
เท็ดจึงควรพูดว่า 

"ผมชอบดอกเบญจมาศมาตลอด แต่ดอกเจอเรเนียมก็สวยดีนะ"

การสลับลำดับประโยคจะช่วยให้เขาเปลี่ยนความหมายของประโยคได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนที่ตัวคำ อันที่จริงแล้ว โดยหลักการทั้งสองประโยคยังมีความหมายเหมือนกันอยู่ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินประโยคนั้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

แต่ถ้าคุณไม่สามารถสลับลำดับประโยคได้ คุณก็ยังสามารถขจัดผลกระทบของคำว่า "แต่" ได้ง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนไปใช้คำว่า "และ" แทน

เท็ด: ใช่ ดอกเจอเรเนียมก็สวยดีนะ และผมชอบดอกเบญจมาศมาตลอด

ความหมายของประโยคนี้ไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่คุณตั้งใจไว้ บางครั้งคุณจำเป็นต้องทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ตอนที่พูดประโยคนั้นออกมา เราสามารถคิดต่างโดยไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นมาได้

คำแนะนำที่คนส่วนใหญ่เคยได้ยินก็คือ เราควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า "แต่" หรือหันไปใช้คำว่า "และ" แทนซึ่งสำหรับบางสถานการณ์เหมือนในตัวอย่างข้างต้น คำว่า "แต่" เป็นสิ่งที่สมควรหลีกเลี่ยง 

ทว่าในบางสถานการณ์ มันกลับเป็นคำที่เหมาะจะนำมาใช้ที่สุด เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คิด และเมื่อไหร่ที่เผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว คุณก็ควรใช้คำว่า "แต่" เพื่อลบล้างคำปฎิเสธให้หมดไป

-2-

ถ้าอยากจะเข้าใจประเภทของคำปฏิเสธที่เราต้องการออกไป อันดับแรกก็คือ เราต้องทำความเข้าใจข้อแตกต่างระหว่าง "คำปฏิเสธที่นุ่มนวล" กับ "คำปฏิเสธที่แข็งกร้าว"

ตัวอย่างของคำปฏิเสธที่นุ่มนวลก็คือลูกไม้เก่าๆ อย่าง "ไว้คราวหน้าแล้วกัน"

คุณสามารถใช้คำว่า "แต่" เพื่อเปลี่ยนคำปฏิเสธที่นุ่มนวลให้กลายเป็นคำตอบรับได้ด้วยการพูดว่า 

"คุณจะเก็บไว้คราวหน้าก็ได้นะ แต่ถ้าคุณเกิดลืมขึ้นมาล่ะ ตอนนี้เราพร้อมที่จะจัดการทุกอย่างให้คุณแล้ว ต่อไปคุณก็วางใจได้เลยว่าทุกอย่างจะเป็นไปอย่างราบรื่น"

เทคนิคนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่เริ่มด้วยการพูดทวนคำปฏิเสธของอีกฝ่าย และเติมคำว่า "แต่" เข้าไปเพื่อลบล้างความคิดนั้น ก่อนจะปิดท้ายด้วยสิ่งที่คุณต้องการให้เขาเชื่อ มันใช้ได้ผลกว่าการบอกไปตรงๆ ว่า "คุณควรจัดการตอนนี้เลย" ด้วยซ้ำ

ตัวอย่างการใช้คำว่า "แต่" ที่ช่วยจัดการ คำปฏิเสธที่นุ่มนวล

"ฉันรู้ว่าคุณไม่อยากกินยา แต่นี่มันเป็นเรื่องของความเป็นความตายเลยนะ"
"ฉันรู้ว่าเธอเกลียดการบ้าน แต่งานชิ้นนี้ต้องสนุกแน่ๆ"
"ฉันรู้ว่าเธอไม่ชอบล้างจาน แต่ฉันรู้นะว่าเธอชอบทำสิ่งดีๆ ให้แม่เวลาเห็นท่านเครียด"

-3-

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าใครสักคนใช้คำว่า "แต่" เพื่อลบล้างคำพูดของคุณ พวกเขาทำตามสูตรเดียวกันด้วยการพูดสิ่งที่คุณอยากได้ยินก่อน จากนั้นก็ใส่คำว่า "แต่" เข้ามา แล้วตามด้วยสิ่งที่เขาอยากให้คุณเชื่อ

ตัวอย่างที่พบได้บ่อยๆ

"ฉันก็อยากไปนะ แต่ไปไม่ได้จริงๆ"

ทั้งหมดที่คุณต้องทำ คือ พูดทวนสิ่งที่อีกฝ่ายพูดมาโดยอาศัยการปรับและสลับประโยคเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น

"คุณไปไม่ได้ แต่คุณก็อยากไปใช่ไหม"

ถึงแม้เทคนิคนี้จะไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้คนได้ทันที แต่ก็สามารถเปลี่ยนความรู้สึกของพวกเขาได้ เพราะใจความสำคัญของประโยคจะเปลี่ยนจาก "ฉันไปไม่ได้" เป็น "ฉันอยากไป" และนั่นก็ส่งผลอย่างมากต่อมุมมองที่พวกเขามีต่อสนทนา

-4-

สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ว่าเป้าหมายการสนทนาคืออะไรเสียก่อน การสื่อสารทุกครั้งล้วนมีเป้าหมาย แต่หลายครั้งเราก็เข้าสู่การสนทนาโดยไม่รู้เลยซ้ำว่าเราต้องการให้คนอื่นเชื่อ รู้สึกหรือทำอะไรกันแน่ ก่อนอื่นคุณตอบคำถามดังต่อไปนี้ก่อนเริ่มการสนทนา

1. คุณต้องการให้อีกฝ่ายทำอะไร?
2. อีกฝ่ายต้องรู้สึกอย่างไรจึงจะลงมือทำ?
3. พวกเขาต้องเชื่ออะไรจึงจะรู้สึกเช่นนั้นได้?

ความเชื่อนั้นหยั่งรากลึกในห้วงความคิดของคนเรายิ่งกว่าความรู้สึกเสียอีก ความรู้สึกสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ความเชื่อมีแนวโน้มจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไปตลอดชีวิตของคนเรา

(ผมนี่!!! นึกถึงหนังเรื่อง Inception เพราะแก่นของเรื่องคือประโยคในย่อหน้าที่ได้อ่านไป)

ถ้าคุณมีปัญหากับการจูงใจให้ผู้คนลงมือกระทำอะไรสักอย่างละก็ คุณก็ต้องรู้ให้แน่ชัดว่าคุณอยากให้พวกเขาทำอะไร จากนั้นก็มองหาความเชื่อและความรู้สึกที่จะกระตุ้นให้พวกเขาลงมือทำ

เมื่อคุณรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนั้นได้แล้ว ให้เลือกการกระทำ ความรู้สึก ความเชื่อมาสักหนึ่งอย่าง แล้วนำมันไปใส่ไว้ในช่อง "ผลลัพธ์" ของสูตรด้านล่างนี้

[สาเหตุ] แต่มันคงทำให้คุณ [ผลลัพธ์]

ตัวอย่าง

เมื่อหมอฟันต้องการพูดให้คนไข้คลายความกังวล เขาจะบอกว่า
"ผมจะปรับเก้าอี้ให้เอนลง แต่คุณอาจรู่สึกสบายจนอยากจะหลับไปเลย"

เมื่อที่ปรึกษาทางการเงินพูดกับลูกค้าว่า
"เดี๋ยวผมจะอธิบายตัวเลือกทั้งหมดให้คุณฟังครับ แต่คุณคงอยากฟังคำแนะนำของผมในเรื่องนี้ก่อนแน่"

ไม่ว่าคุณจะต้องการพูดประโยคเหล่านี้ด้วยน้ำเสียงที่จริงจัง หรือพูดแบบยิ้มๆ แล้วขยิบตาให้คู่สนทนาด้วยก็สามารถเลือกได้ตามที่เหมาะสมกับบุคลิกของตัวเองเลย

Cr. 7 คำวิเศษ หยิบมาใช้เมื่อไหร่ คนทำตามเมื่อนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น