"เรากำลังใช้ชีวิตให้ตัวเองจดจำหรือเปล่า?"
ประโยคข้างบนเป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจของ ซีซ่าร์ คุริยามะ (Cesar Kuriyama) นักโฆษณาหนุ่มวัยเกือบ 30 ปี ในช่วงกลางปี 2009
ช่วงนั้นคุริยามะใช้ชีวิตแต่ละวันไปกับงานโฆษณาทุกวัน ไร้ซึ่งเวลาสังสรรค์ใดๆ ไม่มีเวลาเจอหน้ากับครอบครัว เพราะช่วงนั้นเขาทำงานไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์
แต่เรื่องราวที่ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนแปลง เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม ปี 2009 คุริยามะได้มีโอกาสฟังบรรยาย TED Talks ของ สเตฟาน แซกเมียสเตอร์ (Stefan Sagmeister) ชื่อหัวข้อว่า "The Power of Time Off" (เหนื่อยนักก็พักบ้าง) โดยสเตฟานได้เล่าเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสตูดิโอของผู้บรรยายที่จะปิดทำการ 1 ปีในทุกๆ 7 ปี การพักด้วยวิธีนี้ผู้บรรยายกล่าวว่าจะทำให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์และมุมมองใหม่ๆ ในการทำงาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานแวดวงครีเอทีฟ
คุริยามะจึงตัดสินใจลาออกจากงานเมื่ออายุเขาครบ 30 ปี ซึ่งเป็นไม่เป็นการพักโดยเสียเวลาเปล่า เพราะเขาได้บันทึกช่วงเวลาหนึ่งปีที่พักนี้ในรูปแบบวิดีโอ โดยมีกฎเกณฑ์ว่า ในแต่ละวันเขาจะบันทึกวิดีโอวันละ 1 หนึ่งวินาที ไม่ขาดไม่เกิน ซึ่งถ้าเขาทำอย่างสม่ำเสมอ เมื่อครบ 1 ปีเขาจะได้ความยาววิดีโอประมาณ 6 นาที เขามองว่านี่เป็นไอเดียง่ายๆ แต่ทรงพลังมากทีเดียว
การอัดวิดีโอแม้เพียงหนึ่งวินาทีต่อวัน ทำให้เขาหันหลังกลับไปมองได้อย่างชัดเจนว่าชีวิตช่วงสัปดาห์ไหนที่เขาไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่จดจำ ชีวิตช่วงไหนที่เขาจมปลักอยู่กับ โซฟา ทีวี ชีวิตช่วงไหนที่ผจญภัย ชีวิตช่วงไหนที่น่าตื่นเต้น ทำให้เห็นอดีตได้คมชัดและต่อเนื่อง และตัวเขาเองรู้สึกว่าต้องทำให้แต่ละวันเป็นที่จดจำมากขึ้น อย่างน้อยสัก 1 วินาทีก็ยังดี
ต่อมาเมื่อ TED Talks ประกาศรับผู้สมัคร คุริยามะจึงตัดสินใจรีบสมัครทันที ปรากฏว่าเขาได้รับเลือกให้ขึ้นพูดบนเวทีนี้ โดยหัวข้อที่คุริยามะเล่าคือ "1 Second Everyday" นี่เอง
ในโลกที่หน่วยความจำมีความจุมากขึ้นและราคาถูกลงเรื่อยๆ การบันทึกความทรงจำกลายเป็นเรื่องง่าย แทบไม่ต้องใช้ความคิดเลย ต่างกับยุคที่ต้องซื้อฟิล์มใส่กล้อง เนื่องจากจำนวนที่จำกัดของฟิล์ม ทำให้คุณต้องเลือกบันทึกเฉพาะที่อยากจดจำ ไม่ใช่ทุกช่วง ในขณะเวลาที่เหลือคุณก็ยังสามารถใช้เพื่ออยู่ในห้วงเวลานั้นได้จริงๆ
คุริยามะบอกว่า ที่จริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องใช้ภาพหนึ่งพันภาพ เพื่อสื่อความทรงจำแต่ละวันเลย การบันทึกวิดีโอเพียงหนึ่งวินาทีต่อวัน ก็เพียงพอที่จะทำให้เขาระลึกถึงเหตุการณ์วันนั้นได้ทั้งวันแล้ว
แท้จริงแล้ว โครงการแนว "วันละภาพ" นี้ได้ทำกันหลากหลายมานานแล้ว แต่คุริยามะคิดว่า บางครั้งภาพถ่ายก็ไม่สามารถบันทึกเสียงหัวเราะ การเปลี่ยนสีหน้าของผู้คน ดังนั้นเมื่อเทียบระหว่างภาพกับวิดีโอแล้ว วิดีโอสามารถกระตุ้นความทรงจำของเขาได้ดีกว่า ถึงแม้จะเป็นวิดีโอสั้นๆ เพียงหนึ่งวินาที
แม้มีหลายครั้งที่ครอบครัวของคุริยามะจะประสบเหตุการณ์หนักหนาสักเพียงใด แต่เขาก็กัดฟันบันทึก และพบว่าเมื่อนำมาเรียงร้อยต่อกันทั้งหมด การบันทึกช่วงเวลาที่เจ็บปวด ก็ทำให้เขายิ้มกับช่วงเวลาที่มีความสุขได้เต็มปาก
คุริยามะเลือกที่จะไม่บันทึกช่วงเวลาที่เขารู้สึกมีความสุขในแต่ละวัน แต่จะรอให้ช่วงเวลานั้นผ่านพ้นไปจึงบันทึกเก็บไว้ เพราะเขาเชื่อว่าในช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด ไม่ควรเสียเวลาอย่างการล้วงมือถือขึ้นมาถ่าย ที่สำคัญการบันทึกช่วงเวลาที่แม้จะผ่านจุดนั้นมาแล้ว เมื่อกลับมาดูก็ยังทำให้เขาจดจำช่วงเวลาก่อนหน้านั้นได้อยู่ดี
ถ้าคุณยังใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ตื่นมา ไปทำงาน กินข้าว ทำงานตอนบ่าย รถติด กลับบ้าน นอน ไดอะรี่ของคุณทุกๆวันคงไม่แตกต่าง อาจบันทึกได้อย่างขึ้เกียจๆ ว่าเหมือนเมื่อวาน
การใช้ชีวิตที่ดีอาจเป็นการทำ "วันเวลาให้มีชื่อเรียก" ทำให้แต่ละวันให้มีจุดจดจำ และอาจไม่ต้องจดจำยาวนานมากมายในแต่ละวัน เพียงคุณเริ่มต้นที่หนึ่งวินาที
Cr. วันพรุ่งนี้ที่เกิดขึ้นแล้ว - ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น