วันเสาร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ความสำเร็จของการริเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง #2 Lego


        หลังจาก บทความครั้งก่อน ผมได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับ Instagram โดยมุ่งประเด็นที่ความสำเร็จของการริเริ่มเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้บทความนี้ผมจะกล่าวถึงในประเด็นเดียวกันแต่คราวนี้เกี่ยวข้องกับ "Lego"

        สมัยเด็กๆ เมื่อยุคโซเชียลยังไม่เป็นที่แพร่หลาย คุณน่าจะรู้จักหรือสัมผัสเล่นกับตัวต่อ Lego มาบ้าง คำว่า "Lego" มาจากการนำคำสองคำที่เป็นภาษาเดนมาร์กคือ "Leg" และ "Godt" มาประสมกัน ซึ่งหมาย
ถึง "Play Well" ในภาษาอังกฤษ มันคือของเล่นตัวต่อพลาสติก มีหลายสี หลายลักษณะ เหมือนก้อนอิฐมีขนาดต่างกัน มีปุ่มและร่องเพื่อการประกอบที่ไม่ต้องใช้กาว

ตัวต่อพลาสติกเลโก้
        ช่วงแรกของตัวต่อ Lego ผลิตจากไม้ โดยชาวเดนมาร์กชื่อ Ole Kirk Christiansen และมาเปลี่ยนเป็นตัวต่อพลาสติก เรียกว่า Automatic Binding Bricks ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นค่อยถูกเปลี่ยนชื่อสินค้าเป็นตรา Lego เมื่อ ค.ศ. 1954 หรือช่วงห้าปีหลังจากนั้น ปัจจุบันตัวต่อ Lego ไม่ได้ใช้วัสดุพลาสติกแต่เปลี่ยนมาใช้วัสดุพลาสติกแบบ Acrylonitrile Butadiene Styrene (ABS) ตั้งแต่ปี ค.ศ.1963

        ในช่วงนั้น Lego ยังเข้าใจตนเองว่าถูกขายได้ในฐานะที่เป็น "ตัวต่อ" เหมือนในช่วงอดีต นั่นคือ คนที่ซื้อผลิตภัณฑ์นี้ไปจะสามารถนำ ตัวต่อ ต่อเป็นรูปอะไรก็ได้ตามไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ของคนซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็ก

         แต่ปัญหามันก็เริ่มชัดเจนขึ้น เนื่องจากธรรมชาติของเด็ก ส่วนใหญ่ไม่สามารถต่ออะไรที่ซับซ้อนได้ เพราะการต่อดังกล่าวต้องมีการวางแผน ลำดับและขั้นตอนในการต่อเป็นอย่างดี อีกทั้งเมื่อเด็กๆต่อตัวเลโก้เสร็จในแบบง่ายๆทุกครั้ง พวกเขาจะต้องรื้อตัวต่อเลโก้ออกมาเมื่อเด็กๆคิดจะเล่นต่อชุดเดิมของเขาต่อไป ทำให้ยอดขายของ Lego ไม่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่คนซื้อซื้อไปครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่กลับมาซื้ออีก

ชุดต่อ Belville ของ Lego
         ในตอนนั้นทางเลโก้ยังคิดในกรอบ Lego ว่าเป็น "ตัวต่อ" ทว่าต่อมาทาง Lego เริ่มรับรู้ถึงปัญหาสำคัญที่ไปกล่าวมาข้างต้น ระหว่างที่ผู้บริหารคนหนึ่งเล่าเรื่องถึงพฤติกรรมการต่อและรื้อตัวต่อของลูกชายให้ในที่ประชุมผู้บริหารฟัง จึงทำให้ต่อมาเกิดไอเดียใหม่ถึงการเปลี่ยนแปลงในฐานะที่ Lego เป็นตัวต่อ ให้เป็น "ชุด (set)" แทน ซึ่งเป็นที่มาของ "Lego Design Product"

         กล่าวคือ ชุดของ Lego นี้จะต่างจากตัวต่อเลโก้ปกติตรงที่ ชุดดังกล่าวจะมีคู่มือ (guideline) ที่บอกวิธีการประกอบตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนขั้นตอนสุดท้าย และมีจำนวนชิ้นตัวต่อที่แน่นอน ซึ่งท้ายสุดหลังจากต่อเสร็จเรียบร้อยจะกลายเป็นแบบจำลองต่างๆ แบบเดียวกับรูปบนกล่องที่ซื้อมา เช่น ชุด Belville และ Clikits ที่ทาง Lego ออกมาช่วงแรกๆ เพื่อมุ่งเป้ากลุ่มลูกค้าที่เป็นเด็กสาว

         นอกจากนี้ยังมีชุดที่ต่อเป็นรูปเมือง รถไฟ ยานอวกาศ ไดโนเสาร์ และอื่นๆอีกมากมาย รวมถึงแบบที่มีลิขสิทธิ์ที่ทาง Lego ได้ขอซื้อลิขสิทธิ์ด้วย เช่น Star Wars, Bionicle, Spider man, Harry Potter, Snoopy, Toystory, Batman, Jame Bond 007 เป็นต้น

ชุดต่อ Sydney Opera ของ Lego
ชุดต่อ Mohammed ซึ่งมีคำอธิบาย
หน้ากล่องว่าไม่เหมาะกับผู้หญิง
       
           ผลก็คือเมื่อชิ้น Lego เหล่านี้ถูกต่อจนเสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย มักจะไม่มีการรื้อมาประกอบเป็นอย่างอื่นอีก เพราะไม่สามารถทำได้เนื่องจากจำนวนและลักษณะตัวต่อมีจำกัด รวมถึงปัจจัยการขยายฐานกลุ่มลูกค้าที่นอกจากเด็กไปยังผู้ใหญ่ที่มีความผูกพันกับเหล่าการ์ตูนและมีอำนาจในการซื้อมากกว่า และมีการแบ่งระดับความยากง่ายให้เลือกได้ ทำให้ยอดขายของ Lego สูงขึ้นจากเดิมเป็นอย่างมาก

Legoland ที่ประเทศมาเลเซีย
(ที่มา: www.makkuted.com)
       
          อีกทั้งยังมี Legoland ที่เป็นสวนสนุกที่นำเสนอประติมากรรมจากตัวประกอบเลโก้หลากหลายชนิด ซึ่งมีขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจของเล่น และสร้างความสนุกสนานต่อผู้ที่ชื่นชอบเลโก้เป็นชีวิตจิตใจ โดยเปิดตัวที่แรกที่เมือง Billund อยู่ประเทศเดนมาร์ก และมีแนวโน้มที่จะขยายไปออกไปในหลายประเทศ รวมถึงการพยายามพัฒนาออกแบบชุดเลโก้มากขึ้นเรื่อยๆโดยฝีมือนักออกแบบ และ เทคโนโลยีที่เป็น software ออกแบบของเลโก้โดยเฉพาะ

          จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นได้ว่าถ้า Lego ยังคิดว่าธุรกิจของตนเองเป็นในฐานะ "ตัวต่อ" และไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างทุกวันนี้ Lego ก็คงไม่ประสบสำเร็จและเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆและสาวก Lego ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า 80 ปี

          ในแต่ละวันคุณลองสังเกตดูว่าถ้าเมื่อไหร่คุณเริ่มเคยชินกับความสำเร็จแบบเดิมๆ ชีวิตไม่มีอะไรแปลกใหม่หรือความตื่นเต้นเร้าใจที่มากกว่าเดิม แสดงว่าถึงเวลาที่คุณต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เพื่อยกระดับความสุขและความสำเร็จของคุณที่มากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่คุณอาจต้องเริ่มเปลี่ยนแปลง อย่ารอเวลา

          เพราะว่า ราคาของ "เวลา" ในปัจจุบันมีค่ามี "เนื้อทอง" มากกว่า "เวลา" ในอดีต และเวลาไม่เคยรอใคร ทุกคนมีเท่ากันอยู่ที่ว่าใครจะเริ่มได้เร็วกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น