วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ก่อน หรือ หลัง: แบบไหนดีกว่า

       
          จากหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "กลยุทธ์ในชีวิตประจำวัน" เขียนโดย คุณนรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ได้เขียนถึงว่าคำตอบจากผลการทดลองจิตวิทยาการทดลองหนึ่งที่สามารถช่วยอธิบายว่า ลำดับก่อนหรือหลังจะมีผลต่อการแข่งขันหรือนำเสนอระหว่างทีมอื่นๆหรือผู้เข้าแข่งขันท่านอื่นๆ อย่างไร

---

          ถ้าคุณเคยต้องเข้าประกวดแข่งขันใดๆบนเวทีไม่ว่าจะเป็นการโต้วาที การประกวดร้องเพลง หรือแม้แต่การแข่งขันนำเสนอผลงานในวาระต่างๆเช่น งานวิชาการ การประชุมลูกค้ารายใหญ่ เป็นต้น แน่นอน เชื่อว่าคุณต้องเคยสงสัยว่า การขึ้นเวทีก่อนหรือหลังคู่แข่งนั้น ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบหรือไม่ ทางเลือกแบบแรกหรือแบบหลัง แบบใดดีกว่ากัน

          เชื่อว่าหลายคนที่เคยเข้าประกวดคงเกิดความรู้สึกที่สัมผัสได้ลึกๆว่า ลำดับของการขึ้นเวที น่าจะมีผลในเชิงจิตวิทยาต่อการตัดสินใจของเหล่าคณะกรรมการอยู่พอสมควร

          มีทฤษฎีจิตวิทยาสองทฤษฎีที่เกี่ยวข้องที่พอจะอธิบายคำถามดังกล่าวได้ นั่นคือ Primary Effect กับ Recency Effect

          ทฤษฎีแรก Primary Effect กล่าวไว้ว่า มนุษย์มักฝังใจหรือจดจำสิ่งที่มาก่อนได้ดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง มนุษย์มีแนวโน้มที่จะเกิดความฝังใจหรือจดจำสิ่งที่มาก่อนมากกว่าสิ่งที่มาหลัง นั่นหมายความว่า ทฤษฎีนี้สนับสนุนแนวคิดที่ว่า การขึ้นเวทีคนแรกน่าจะได้เปรียบเทียบที่สุด

          อีกทฤษฎีหนึ่ง Recency Effect กล่าวในมุมตรงข้ามกับทฤษฎี Primary Effect ไว้ว่า มนุษย์มีแนวโน้มที่จะฝังใจหรือจดจำสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุดได้ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนานแล้ว ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ประชาชนมักให้น้ำหนักผลงานในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้งครั้งที่สองของผู้ว่าราชการจังหวัดฯคนปัจจุบัน มากกว่าผลงานในช่วงก่อนหน้าทั้งหมดของเขา นักการเมืองที่ข่าวอื้อฉาวช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมักสอบตก ในระหว่างนั้น นักการเมืองหลายๆคนมีแนวโน้มที่จะขยันทำผลงานมากเป็นพิเศษก่อนการเลือกตั้ง ดังนั้นทฤษฎีนี้สนับสนุนแนวคิดว่า การขึ้นเวทีเป็นคนสุดท้ายน่าจะได้เปรียบเทียบที่สุด

          จากทฤษฎีสองทฤษฎีข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีความขัดแย้งกันเอง เพื่อไขข้องปัญหานี้ นักจิตวิทยาสองคน ชื่อ นอร์แมน มิลเลอร์ กับ โดนัลล์ แคมเบลล์ ได้ทำการทดลองโดยให้กลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มฟังเสียงที่ถูกบันทึก เสียงแรกเป็นคำพูดของทนายฝ่ายโจทก์ ส่วนเสียงที่สองเป็นคำพูดของทนายความฝ่ายจำเลย

          กลุ่มตัวอย่างกลุ่มแรกได้ฟังเสียงแรกและเสียงที่สองติดต่อกันทันทั จากนั้นอีกสองสัปดาห์ต่อมาจึงถูกสัมภาษณ์ความคิดเกี่ยวกับคดี ผลปรากฎว่ากลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเข้าข้างทนายฝ่ายโจทก์ในเสียงแรกมากกว่า นั่นคือ ทฤษฎี Primary Effect มีผลต่อกลุ่มตัวอย่างกลุ่มนี้มากกว่า

          ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สองได้ฟังเสียงแรกเช่นกัน  แต่จากนั้นอีกสองสัปดาห์ต่อมาจึงได้ฟังเสียงที่สอง และถามความเห็นทันทีหลังจากฟังเสียงที่สองจบ ผลปรากฎว่ากลุ่มตัวอย่างกลุ่มที่สองนี้มีแนวโน้มที่จะเข้าข้างทนายฝ่ายจำเลยมากกว่า นั่นคือ ทฤษฎี Recency Effect มีผลต่อกลุ่มตัวอย่างที่สองนี้มากกว่า

          การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่า ทั้งสองทฤษฎีไม่ว่าจะเป็น Primary Effect และ Recency Effect ล้วนจะมีผลต่อการตัดสินใจ แต่ทฤษฎีใดมีผลมากกว่าขึ้นอยู่กับว่ามีการเว้นช่วง หรือมีช่วงพักระหว่างการแข่งขันหรือการนำเสนอระหว่างคู่แข่งกับเราหรือไม่

          คุณควรเลือกขึ้นเวทีก่อนถ้าหากการแข่งขันเป็นแบบต่อเนื่องโดยไม่มีช่วงหยุดพักระหว่างการแข่งขันหรือนำเสนอระหว่างทีม แต่ถ้าเป็นการแข่งขันที่มีการหยุดพักระหว่างทีมแต่ไม่มีการหยุดพักหรือเว้นช่วงระหว่างการนำเสนอของทีมสุดท้ายกับการประกาศผลคำตัดสินจากคณะกรรมการ คุณควรเลือกขึ้นเวทีทีหลังดีกว่าจึงจะช่วยให้ทีมของคุณได้เปรียบมากที่สุด

---

          จากในมุมมองของผม อย่างไรก็ตามที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นจริงได้อย่างชัดเจน ถ้าแต่ละทีมในทุกๆทีมที่ทำการแข่งขันหรือนำเสนอผลงาน มีความตั้งใจสมาธิและดึงศักยภาพความสามารถของทีมมามากให้ที่สุด เพราะหากทีมของคุณไม่ได้ตั้งใจแข่งขันอย่างเต็มที่ หรือเกิดความผิดพลาดระหว่างการแข่งเกิดขึ้นจนทำให้เห็นชัดว่าทีมของคุณด้อยกว่าทีมอื่นๆ ต่อให้คุณได้ลำดับที่ดีตามทฤษฎีก็จริง แต่ผลการตัดสินจากคณะกรรมการก็คงไม่โน้มเอียงมาทีมคุณให้ชนะได้อย่างเด็ดขาด

          ดังนั้นช่วงก่อนการแข่งขันจริงจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันใดก็ตาม คุณหรือทีมของคุณต้องซักซ้อมเตรียมตัวมาอย่างดีที่สุด เพื่อให้คณะกรรมการทุกคนให้ทีมของคุณหรือคุณเป็นที่หนึ่งอย่างเอกฉันท์ แม้แต่ลำดับการนำเสนอยังมีผลหรือความสำคัญน้อยกว่า ปัจจัยลำดับก่อนหรือหลังเป็นแค่ปัจจัยที่จะสนับสนุนให้คุณมีแนวโน้มที่จะชนะหรือประสบความสำเร็จมากขึ้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น