Tina Seelig ผู้เขียนหนังสือ Ingenius หรือชื่อฉบับแปลไทยว่า "วิชาความคิดที่คุ้มค่าหน่วยกิตที่สุดในโลก" ได้กล่าวถึง การออกแบบพื้นที่เพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แล้วได้มีการอ้างอิงถึงกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจมาก ผมจึงนำบทความบางส่วนของหนังสือมาฝากให้ชาว Blogger หรือท่านผู้อ่าน เพราะผมเชื่อว่าเกร็ดความรู้ในบทความนี้น่าจะประยุกต์ให้เข้ากับ lifestyle ที่จูงใจให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ของคุณได้
---
อีวาน แมคอินทอช เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกการเรียนรู้และเทคโนโลยี เขาทุ่มเทเวลามากมายขบคิดพิจารณาเกี่ยวกับพื้นที่การเรียนรู้ว่ามีทั้งหมด 7 ประเภท ไม่ว่าจะเป็นโลกในชีวิตจริงหรือโลกออนไลน์ เขาได้ต่อยอดจากงานวิจัยของแมตต์ ล็อก และสรุปว่า พื้นที่แต่ละประเภทสามารถเปลี่ยนวิธีที่เรามีปฎิสัมพันธ์ต่อผู้อื่นได้อย่างมาก ถ้าคุณเหมาะจะสร้างสรรค์นวัตกรรม คุณก็ควรพิจารณาพื้นที่ให้ครบทุกประเภท ซึ่งมีดังนี้
1. พื้นที่ส่วนตัว (Private Space)
- เป็นพื้นที่ที่สามารถอยู่ตามลำพังในบางช่วงเวลาระหว่างวัน ซึ่งแต่ละคนต้องการ
- ถ้ากรณีไม่มีการจัดพื้นที่ประเภทนี้ไว้ชัดเจน (เช่น ไม่มีห้องทำงานส่วนตัว) เราก็สามารถสร้างเองได้
- สำหรับบางคนอาจเป็นเพียงพื้นที่เงียบๆ ไว้คุยโทรศัพท์ส่วนตัว
- สำหรับเด็กในโรงเรียนอาจเป็นพื้นที่เล็กๆบนม้านั่งที่สามารถนั่งชันเข่าส่งข้อความคุยกับเพื่อน
2. พื้นที่กลุ่ม (Group Spaces)
- เป็นพื้นที่เพื่อให้คนกลุ่มเล็กๆทำงานร่วมกันได้ มีความสำคัญ เพราะเปิดโอกาสให้เกิดการร่วมกันอย่างใกล้ชิด
- อาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่ใครๆก็น่าจะรู้ แต่ในความเป็นจริง ห้องเรียนหรือพื้นที่ทำงานหลายแห่งกลับถูกออกแบบมาเพื่อปิดกั้นไม่ให้เกิดการจับกลุ่มแบบนี้
- พื้นที่ไม่สนับสนุนการจับกลุ่ม เช่น ในห้องบรรยายส่วนมากมักเรียงเป็นแถว หรือไม่แต่ละคนนั่งอยู่กับโต๊ะที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ ส่วนในออฟฟิศก็ต้องมานั่งทำงานในคอกเล็กๆ
- ถ้าเป็นที่บ้าน พื้นที่ที่ว่านี้อาจเป็นโต๊ะในครัวที่ทุกคนรวมตัวกันและเล่าเรื่องราวที่พบเจอในแต่ละวัน หรือ หารือพูดคุยในหัวข่อที่น่าสนใจ
3. พื้นที่ออกสื่อ (Publishing spaces)
- ถูกออกแบบมาเพื่อจัดแสดงสิ่งที่เกิดขึ้น โดยอาจเป็นพื้นที่จริงหรือเสมือนจริงก็ได้
- ในโลกเสมือนจริง การออกสื่อเกิดขึ้นบนเวปไซต์ด้วยการแบ่งปันภาพถ่ายหรือวิดีโอซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวว่าเราอยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง
- ในโลกชีวิตจริง อาจนำสิ่งต่างๆมาจัดแสดงในห้องรับแขก เช่น ผลงานศิลปะ รูปถ่าย และ ของที่ระลึก เพื่อเล่าเรื่องราวของเราให้แขกผู้มาเยือนรับรู้ นอกจากนี้ตู้เย็นกับกระดานข่าวที่เต็มไปด้วยกระดาษโน้ตและภาพถ่ายก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของพื้นที่ประเภทนี้
- ในที่ทำงานผู้บริหารมักมองข้ามพื้นที่ออกสื่อ จึงเป็นหน้าที่ของแต่ละคนที่จะตกแต่งคอกทำงานหรือห้องทำงานของตัวเองด้วยของที่ระลึกหรือสิ่งที่มีค่าต่อการจดจำต่างๆ สิ่งของเหล่านี้ไม่เพียงให้นึกถึงอดีตแต่ยังกระตุ้นความพยายามที่จะลงมือสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วย
4. พื้นที่ปลดปล่อย (Performing spaces)
- พื้นที่ที่คุณสามารถแสดงออกหรือแบ่งปันไอเดีย
- พื้นที่ประเภทนี้จะช่วยกระตุ้นจินตนาการของคุณและเปลี่ยนไอเดียให้กลายเป็นจริง
- ไม่จำเป็นต้องคงอยู่ถาวร แต่ควรมีใช้ในเวลาจำเป็น เช่น ถ้าสามารถโยกย้ายเฟอร์นิเจอร์ได้สะดวก ไม่ว่าห้องไหนก็สามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลดปล่อยได้เมื่อถึงเวลาต้องแลกเปลี่ยนความคิดกัน
5. พื้นที่ที่มีส่วนร่วม (Participation spaces)
- พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมกับสิ่งที่เกิดขึ้น
- ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเปลี่ยนสนามหญ้าของโรงเรียนเป็นสวนสาธารณะและให้นักเรียนคอยดูแลต้นไม้ พื้นที่กลุ่มก็จะกลายเป็นพื้นที่ส่วนร่วม หรือ ถ้าคุณทำให้พนักงานตระหนักว่าตัวเองใช้พลังงานมากแค่ไหนด้วยการแสดงข้อมูลปริมาณพลังงานแบบเรียลไทม์ (real time) พฤติกรรมของพวกเขาจะเปลี่ยนไปเองโดยอัตโนมัติ พวกเขาจะหันมามีส่วนร่วมในพื้นที่มากกว่าแค่ใช้งาน
6. พื้นที่สำหรับ "ข้อมูล (data)"
- อาจเป็นห้องสมุดหรือฐานข้อมูลซึ่งใช้เก็บข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในภายหลัง
- ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สาธารณะก็ได้ แต่ต้องเข้าถึงง่ายไม่ว่าจะเป็นพื้นที่จริงหรือพื้นที่เสมือนจริงก็ตาม
- ทุกวันนี้ข้อมูลเริ่มไปโผล่ในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องพิจารณาด้วยว่ามันจะส่งผลต่อวิถีการทำงานของเรามากแค่ไหน ในอดีตเราค้นหาข้อมูลที่ต้องการอ้างอิงจากห้องสมุด แต่ปัจจุบันมักใช้เวลาส่วนใหญ่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นที่ๆเราสามารถหาข้อมูลทุกอย่างที่ต้องการได้
7. พื้นที่เฝ้าดู (Watching spaces)
- เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เฝ้าสังเกตว่ามีอะไรเกิดขึ้นรอบตัวบ้าง
- บางครั้งก็อยากเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ที่ได้เฝ้าดูและฟังสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องกระโจนเข้าไปร่วมวงด้วย
- การเฝ้าดูทำให้ได้รับข้อมูลสำคัญๆจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ ซึ่งช่วยให้รู้สึกเชื่อมโยงกับองค์กรมากขึ้น
พื้นที่เป็นเวทีที่แสดงบทบาทในชีวิต ถ้าคุณอยากมีความคิดสร้างสรรค์ คุณก็ต้องสร้างสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่จะช่วยปลดล็อกจินตนาการของคุณ
---
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น