วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ข้อคิดของนักเขียนมือใหม่


      นักเขียนใหม่ที่ต้องการอยู่รอดในสายทางนี้ หรือเป็นนักเขียนอาชีพ ต้องวางแผนระยะยาว นักเขียนใหม่ควรเริ่มต้นปูพื้นฐานอาชีพนี้ โดยสร้างชื่อก่อน ส่งงานไปตามสื่อต่าง ๆ อย่าเพิ่งรีบร้อนตีพิมพ์เป็นเล่ม เพราะเล่มแรกยาก แต่เล่มที่สองยากกว่าหลายเท่า

      ในกรณีนักเขียนพอมีชื่อแล้ว จะเลือกตีพิมพ์เป็นเล่มเลยก็ได้ แต่สำหรับนักเขียนหน้าใหม่ ไม่ควรทำเช่นนี้ เพราะการตีพิมพ์ขายเลยโดยที่คนไม่รู้จักมีโอกาสขาดทุนสูงมาก ต่อให้เขียนดีแค่ไหนก็ตาม เพราะพฤติกรรมคนซื้อหนังสือในปัจจุบัน ยังอยากรู้จักนักเขียนก่อน

      นักเขียนใหม่ควรส่งงานไปตีพิมพ์ตามหน้านิตยสารหรือสื่ออื่น ๆ ก่อน เพื่อปูทางให้คนรู้จักชื่อนักเขียนนี้ เมื่อคนรู้จักมากขึ้น โอกาสที่จะขายได้เมื่อตีพิมพ์เป็นเล่มวางในร้านหนังสือย่อมสูงกว่ามาก

      นักเขียนควรสร้างชื่อสร้างฐานคนอ่านก่อนสัก 5-10 ปีแล้วค่อยรวมเล่ม จะมั่นคงกว่า อย่ารีบร้อน มีตัวอย่างไม่น้อยที่นักเขียนใหม่รีบตีพิมพ์เรื่องแรกออกมาขาย แล้วขายไม่ได้ เพราะคนอ่านยังไม่รู้จักและไม่แน่ใจ

      ผลที่ตามมาอาจร้ายแรงกว่าแค่ขายหนังสือเล่มนั้นไม่ออก คือ

      1. ขายเล่มถัดไปไม่ได้ ไม่มีสำนักพิมพ์ใดอยากตีพิมพ์งานที่ไม่น่าจะขายได้

      2. นักเขียนเสียกำลังใจ เหตุผลเพราะปกติคนอ่านยุคนี้ไม่ซื้อหนังสือของนักเขียน ‘โนเนม’ (เศร้าแต่จริง!) ยกเว้นนักเขียนไปหาทางดังด้วยวิธีอื่นก่อน

      ดังนั้นหากไม่มีใครรู้จัก พิมพ์ออกมาก็ขายไม่ได้ ถ้าเล่มแรกขายไม่ได้ ก็อย่าคาดหวังว่าจะได้มีโอกาสรวมเล่มสอง ไม่มีสำนักพิมพ์ไหนอยากขาดทุน นี่ไม่เกี่ยวกับว่าเขียนหนังสือดีหรือไม่ เพราะในตลาดหนังสือแต่ไหนแต่ไรมา ดีไม่ดีเป็นคนละเรื่องกับขายได้-ขายไม่ได้

      คุณวินทร์ เลียววาริณ ผู้คร่ำหวอดในวงการนักเขียนได้แนะนำว่า นักเขียนรุ่นหลังให้อดทน ฝึกเขียนหลาย ๆ ปี อาจถึง 10-20 ปี แต่ดูเหมือนความอดทนเป็นคุณสมบัติที่หลายคนขาด เขียนเรื่องสั้นได้ 6-7 เรื่อง ก็อยากรวมเล่มในวันนั้นเลย เมื่อขายไม่ได้ ก็หดหู่ แล้วเลิกเขียนไปโดยปริยาย เพราะเกิดความท้อแท้ ทั้งที่อาจมีศักยภาพเป็นนักเขียนที่ดีเยี่ยมได้

ยิ่งรีบยิ่งช้า

      การสร้างชื่อก่อนอาจกินเวลานาน แต่มั่นคงกว่ามาก มีประโยชน์หลายอย่างคือ

      1. คนอ่านรู้จักเราแล้ว ทำให้ขายงานได้ง่ายขึ้น

      2. ช่วงเวลาที่สร้างชื่อเปิดโอกาสให้นักเขียนเก็บได้สะสมผลงานได้ปริมาณมากพอที่จะตีพิมพ์เล่มที่สอง เล่มที่สามได้อย่างต่อเนื่องปีต่อปี หากนักเขียนออกงานหนึ่งเล่มแล้วหายหน้าไปสามปี คนอ่านก็ลืมเขาไปเรียบร้อยแล้ว การสะสมผลงานที่มากพอทำให้มีงานออกมาสม่ำเสมอต่อเนื่อง ทำให้ฐานคนอ่านมั่นคงขึ้น

      3. ความก้าวหน้าทางผลงานและการตลาดไปทีละขั้นทำให้มีกำลังใจ

      นักเขียนต้องถามตัวเองว่าอยากเป็นนักเขียนแบบไหน แบบวูบวาบ เขียนเรื่องสองเรื่องแล้วหายไป หรือเขียนเพื่ออวดเพื่อน หรือเขียนตามใบสั่ง

      เขียนตามใบสั่งอาจได้เงิน แต่ชาตินี้ก็เป็นได้แค่เบอร์ 2 3 4 5 หรือ 100 เท่านั้น เพราะมีแต่การสร้างแบบ ‘ออริจินัล’ จริง ๆ เท่านั้นจึงเป็นเบอร์ 1 ได้

      เขียนตามหัวใจอาจขายยาก แต่หากวางแผนการทำงานให้ดี ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ที่จะประสบความสำเร็จ เพราะตลาดหนังสือทั่วโลกเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (ภาษาการตลาดเรียกว่า niche) เขียนดีชั่วอย่างไรก็มีกลุ่มของมัน ถ้านักเขียนซื่อสัตย์ต่อกลุ่มนักอ่านของตน ก็อยู่ได้

Cr. วินทร์ เลียววาริณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น