วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

In Reading and Writer, We Trust


     บทความในวันนี้ ผมได้เรียบเรียงและสรุปเป็นประเด็นสำคัญๆเป็นจำนวน 9 ประเด็น จากบทสัมภาษณ์ของคุณพรรณศิริ อธิคมรังสฤษฏ์ และคุณโตมร ศุขปรีชา ที่อยู่ในนิตยสาร a day BULLETIN ซึ่งถูกนำมารวมเล่มบทสัมภาษณ์จากหนังสือที่ชื่อว่า "In Talk, We Trust" ในหัวข้อ "Ready To Read" เป็นหัวข้อแรกของหนังสือเล่มนี้

     ผู้ให้สัมภาษณ์ได้ให้คำตอบและพูดถึงแวดวงการอ่านและนักเขียนอย่างตรงไปตรงมา โดยใจความสาระสำคัญของบทสัมภาษณ์อยู่ที่ ความสำคัญและวัฒนธรรมในการอ่านและนักเขียนในความเป็นจริงในปัจจุบัน แนวคิดการส่งเสริมว่าทำอย่างไรวงการการอ่านและนักเขียนจะดีขึ้นได้อย่างไร รวมถึงความจริงที่คนส่วนใหญ่อาจรู้กันน้อยมากและเสียใจบ้างในสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริง

     ผมในฐานะที่เป็นนักอ่านคนหนึ่งที่ยังไม่ได้เป็นนักเขียนก็อยากให้วงการหนังสือนี้เติบโตมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นนักอ่าน นักเขียน และสำนักพิมพ์ ด้วยโดยสาระทั้ง 9 ประเด็นมีดังนี้

1. หนังสือทำให้คุณถ่อมตัวกับชีวิต ต่อยอดจากการค้นพบใหม่ๆที่ได้จากอ่านหนังสือ ยิ่งอ่านเยอะๆจะพบว่าเรารู้อะไรในโลกน้อยมาก มีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่รู้เรื่องอีกมาก บางทีคุณเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นสีขาว แต่พอคุณอ่านไปพบบางอย่างแล้วพบว่าจริงๆมันมีสีดำ คุณก็อาจทุกข์มากว่าเชื่อผิด แต่พออ่านมากขึ้นไปเรื่อยๆ คุณจะเริ่มเห็นว่ามีคนบอกว่ามันเป็นสีเทาเข้มบ้าง เท่าอ่อนบ้าง ในที่สุดคุณก็จะเห็นข้อมูลต่างๆเข้าหาคุณมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งในที่สุดมันก็จะคลี่คลาย

2. หนังสือดีๆหลายเล่ม บางครั้งขาดตลาด หาซื้อไม่ได้ ขาดช่วงการพิมพ์ไปเกือบสิบๆปี เกือบเท่าช่วงอายุของคนรุ่นหนึ่ง สมมติว่าคุณเกิดมาช่วงนั้นแล้วคุณตายก่อน เท่ากับว่าคุณอาจจะไม่เคยเห็นหนังสือเล่มนั้นเลย เป็นสาเหตุที่กระตุ้นให้คนที่ชอบหนังสือจริงๆ ต้องไปซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ (ฺBook Fair) เพราะคุณจะได้ไปหาสำนักพิมพ์ตรงๆ เพราะคุณบางครั้งหาซื้อหนังสือทางเลือกหรือนอกกระแสได้ยาก

3. เด็กๆยุคใหม่ที่ไม่ได้อ่านหนังสือ แต่อ่านตัวอักษรที่พิมพ์ใน Social Media เช่น Line, Twitter หรือ Facebook ถ้าลองศึกษาว่าการเขียนการอ่านใน Social Media มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ก็สามารถนำคำตอบนี้ไปต่อยอดให้กลายเป็นวัฒนธรรมการอ่านแบบใหม่

4. ถ้าจะสนับสนุนการอ่าน นอกจากหนังสือแล้ว สื่อใหม่ๆอย่างแอพพลิเคชันเรื่องสยองขวัญของ เอ็ดการ์ แอลลัน โพ เขาจะบอกให้ใส่หูฟังดีๆ นั่งอยู่ที่เงียบๆจากนั้นเนื้อหาตัวหนังสือ เสียง และภาพเคลื่อนไหวบางส่วนจะปรากฎขึ้น ยังมีการบอก hint ว่าเรื่องดำเนินไปอย่างไร ก็สามารถสนับสนุนให้เกิดการอ่านได้

5. ถ้ามีชีวิตที่ดี แล้วคนก็จะอยากหาความสุขด้านอื่นๆมาเพิ่ม ตราบใดที่คนส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตไม่ดี การไปเรียกร้องให้ใครต้องอ่านหนังสือคงไม่ใช่เรื่องที่ดี เนื่องจากบางครั้งสำหรับบางคนทำงานหนักกลับบ้านคงไม่มีอารมณ์มาอ่านหนังสือ คนส่วนใหญ่กลับถึงบ้านเปิดทีวี รับความบันเทิงแบบง่ายๆที่คนทุกคนทำได้

6. งานศิลปะอื่นๆที่ไม่ใช่การเขียน มีราคาค่าตัวสูงกว่านักเขียนทั้งนั้น ลองเปรียบเทียบว่า ช่างภาพ ช่างแต่งหน้า หรือ สไตลิสต์แฟชัน พวกเขาทำงานได้เงินเท่าไรต่อวัน เมื่อพิจารณาถึงนักเขียนพบว่าบทความชิ้นหนึ่งส่วนใหญ่ได้เงินไม่มากเท่าไหร่ ซึ่งต้องใช้เวลาเยอะมาก เพราะต้องใช้เวลาในเก็บข้อมูล เรียบเรียง ตัดทอนแก้ไขคำให้สละสลวย และไม่เคยเห็นว่าองค์กรต่างๆที่เป็นนักเขียนรวมตัวกัน จะลุกขึ้นมาต่อสู้ในเรื่องสิทธิของนักเขียน ส่วนใหญ่รวมตัวและคุยกันถึงเรื่อง ยูโทเปีย อุดมคติของนักเขียนควรจะเป็นอย่างไร มีวรรณกรรมชั้นเลิศได้เมื่อไหร่ คุณจะได้รับรางวัลโนเบลได้เมื่อไหร่

7. บางสำนักพิมพ์หลีกเลี่ยงในการเปิดเผยเรื่องจำนวนพิมพ์ที่แท้จริง เพราะมีผลต่อส่วนแบ่งที่ได้ของนักเขียน ทั้งๆที่เป็นเรื่องกฎหมายและสิทธิของนักเขียน แต่นักเขียนส่วนมากไม่ค่อยใส่ใจเรื่องเหล่านี้ กลับคิดว่า ความยากจนเป็นความงดงาม ความแร้นแค้นทำให้เข้าใจโลกเข้าใจชีวิต ต่างจากคนทำงานศิลปะด้านอื่นๆที่มีการเรียกร้องต่อรองเงินที่ได้รับและรวมถึงเรื่องภาษี ในความเป็นจริง ถ้ามีหน่วยงานหรือองค์กรใดสนับสนุนดูแลสิทธิของนักเขียน ก็สามารถทำให้วัฒนธรรมการอ่านของสังคมนั้นๆเข้มแข็งขึ้นได้

8. ทุกวันนี้นักเขียนจำนวนมากที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักเขียนแต่ไม่มีหนังสืออยู่ในร้านหนังสือ หากลองดูที่ร้านขายหนังสือจะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นหนังสือของแม่ชี หมอดู นักเล่นหุ้น ซึ่งไม่มีอะไรผิด แต่ถ้าสนับสนุนให้นักเขียนสามารถลืมตาอ้าปากหรืออยู่กับการเขียนได้อย่างมีศักดิ์ศรีหรือมีเงินมากพอที่จะเลี้ยงตนเองได้ นักเขียนก็จะมีโอกาส มีเวลาในการเขียน เพิ่มโอกาสในการผลิตงานที่ดีมากขึ้น แทนที่จะต้องเขียนหนังสือเฉพาะเวลากลับบ้านซึ่งต้องรอออกมาจากที่ทำงานในช่วงกลางวันก่อนเพื่อเอาเงินเลี้ยงชีพ

9. สังคมที่จะทำให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านที่ดีได้จะต้องเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์พอสมควร คนที่ถูกอ่านก็จะต้องเปิดกว้าง รับฟังว่าตัวเองถูกอ่านว่าเป็นอย่างไร แล้วอาจมีการชี้แจงอธิบายกลับว่าที่คุณอ่าน ไม่ใช่เป็นอย่างคุณเข้าใจ อาจต้องมีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนความคิด จะได้มีการแตกหน่อต่อยอดในเรื่องความคิด ห้องสมุดก็เป็นสถานที่หนึ่งที่มีบทบาทในวัฒนธรรมการอ่านมากเช่นกัน การมีเครือช่ายห้องสมุดที่มีห้องสมุดย่อยๆเต็มไปหมด สามารถหยิบยืมหนังสือจากที่ใดก็ได้ในเครือ เสมือนไม่ได้ว่าในบริเวณๆหนึ่ง ไม่ได้มีห้องสมุดเพียงแห่งเดียว

     ช่วงเดือนหน้าในวันที่ 26 March ถึง 6 April นี้ (ที่ประเทศไทย)ได้มีงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 43 (43rd National Book Fair and 13th Bangkok International Book Fair 2015) ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (Queen Sirikit National Convention Center)โดยภายในงานมีสำนักพิมพ์ต่างๆออกบูธเปิดขายหนังสือในราคาพิเศษหลังจากหักส่วนลด มีทั้งหนังสือส่วนที่เป็นโซนหนังสือภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมถึงภาษาอื่นๆด้วย

Poster งาน
แผนผังบูธ
รายชื่อผู้ออกบูธ (List of Exhibitors)

      การไปงานหนังสือแล้วช่วยกันอุดหนุนซื้อหนังสือเล่มใดก็ได้ที่คุณชอบอย่างน้อยสักเล่ม ก็เท่ากับคุณเริ่มสนับสนุนให้แวดวงหนังสือมีอยู่ต่อไปได้ คุณได้ทั้งความรู้ความบันเทิงจากการอ่าน นักเขียนมีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงาน และสำนักพิมพ์ได้รับเงินทุนในการผลิตหนังสือต่อไป

Credits and Thanks
In Talk We Trust & a day BULLETIN - Book, Magazine
Book Thai - Facebook Page
PUBAT - Thai Association

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น