วันเสาร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2559

Reading Strategies: Read more efficiently


      การอ่านหนังสือทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์” - Francis Bacon

       นักเขียนชื่อก้องโลก อกาธา คริสตี้ อ่านหนังสือปีละ 200 เล่ม ขณะที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก อ่านหนังสือ 1 เล่มภายในเวลา 2 สัปดาห์ ส่วนประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลท์ ของสหรัฐฯ อ่านหนังสือวันละเล่ม และจะเพิ่มเป็น 2-3 เล่มหากมีเวลาเงียบๆ ตอนกลางคืน 

       สำหรับคนธรรมดา ๆ อย่างเรา จะทำอย่างไรจึงสามารถอ่านหนังสือได้มากขึ้น?

       หนังสือในโลกถูกพิมพ์ออกมาปีละ 2,249,000 กว่าเล่ม (อ้างอิงจาก UNESCO) ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ว่าคุณจะสามารถอ่านหนังสือได้ทุกเล่มในปริมาณที่มากขนาดนั้น แม้แต่การที่สามารถอ่านหนังสือจำนวน 1,000 เล่มได้ภายในหนึ่งปี ยังถือว่าเป็นระดับที่เป็นไปได้ยาก

       แฮร์เรียต เคราสเนอร์ บรรณารักษ์ประจำโรงเรียนแห่งหนึ่งที่เพิ่งจะเสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน ได้เคยรีวิวหนังสือไว้ 31,014 เล่มในเว็บไซต์ชือดัง Amazon ทั้งยังอ้างว่าเคยอ่านหนังสือได้ถึงวันละ 6 เล่ม เธอบอกว่าเคล็ดลับที่ช่วยให้อ่านหนังสือได้รวดเร็วคือจะต้องเลือกหนังสือที่ดึงดูดความสนใจของตัวเอง แต่ถ้าอ่านเล่มไหนไปได้ 50 หน้า แล้วยังรู้สึกว่าไม่น่าสนใจ เธอก็จะเลิกอ่านทันที

คำถาม คือ แล้วจะคุณรู้ได้อย่างไรว่าหนังสือเล่มใดที่สามารถดึงดูดความสนใจและมีประโยชน์สำหรับคุณ

1. หาหนังสือผ่านคนอื่น
    ถามคำถามถึงคนรอบข้างว่า หนังสือเล่มไหนที่เปลี่ยนชีวิตคุณบ้าง?” และถ้าเขาคนนั้นสามารถพูดอย่างมีแรงบันดาลใจ ถือว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นหนังสือที่ควรอ่าน หรือเก็บไว้ใน Reading List ของคุณ แต่ถ้าเขาบอกว่าหนังสือเล่มดังกล่าวว่าดีเฉยๆ คุณควรจะลืมมันซะ

2. อ่านรีวิวผ่านเว็บไซต์ ผ่าน www.goodreads.com
    สำหรับหนังสือที่คุณสนใจแต่กำลังลังเลว่าคุ้มค่ามากพอกับเวลาที่เสียไปกับการอ่านหรือไม่ คุณสามารถดู Review หนังสือแต่ละเล่ม ในกรณีถ้าได้ Rating ต่ำกว่า 3.6 คุณไม่ควรเสียเวลาอ่านหนังสือดังกล่าวไปทั้งเล่ม

3. หนังสือที่คุณสนใจแล้วได้ซื้อมา กำลังเริ่มอ่านแล้ว หากคุณอ่านไปได้สัก 50 หน้าแล้วคุณเกิดความรู้สึกไม่อยากอ่านต่อ คุณก็ควรเลิกอ่านหนังสือเล่มนั้นซะ

4. จากรูป (Credit รูปกระทู้ Facebook ของคุณ Sitthavee Teerakulchon)


Q1: หนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ แต่ไม่เปิดโลกทัศน์
Q2: หนังสือที่ไม่สร้างแรงบันดาลใจ และไม่เปิดโลกทัศน์
Q3: หนังสือที่เปิดโลกทัศน์ แต่ไม่สร้างแรงบันดาลใจ
Q4: หนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ และเปิดโลกทัศน์

      หากพบว่าหนังสือที่คุณเลือกจัดอยู่ใน Q2 ให้ทิ้งหนังสือเล่มนั้นไปทันที อย่าเสียเวลาอ่านมันจนจบ ในขณะที่หนังสือที่คุณอ่านจริงๆ และควรอ่านจบควรเป็นหนังสือที่จัดอยู่ใน Q4

      อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุด คือ คุณต้องอ่านในสิ่งที่คุณชอบและสนใจจริงๆ เป็นดีสุด อ่านสิ่งที่เราไม่ชอบ คุณไม่มีทางอ่านมันได้เยอะหรือจบได้เลย ในทางตรงกันข้าม หากคุณอ่านสิ่งที่ชอบ บางครั้งคุณสามารถอ่านหนังสือเล่มดังกล่าวได้ไม่แค่กี่ชั่วโมงจบ

คำถามถัดมา คือ คุณจะสามารถอ่านหนังสือให้มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างไร


       ด้าน โทนี บูซาน ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านเร็วและการฝึกฝนความจำ มีวิธีปรับปรุงทักษะการอ่านให้รวดเร็วขึ้นหลายวิธี รวมทั้งศึกษารูปแบบการเคลื่อนไหวของดวงตา การโฟกัส และฝึกกวาดตาอ่านคำคราวละหลายๆ คำ ไม่ใช่การอ่านทีละคำ เขาพบด้วยว่าหากอ่านหนังสือหลังออกกำลังกาย จะช่วยให้อ่านหนังสือได้เร็วขึ้น และบอกด้วยว่าจำนวนหนังสือที่อ่านเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันอาจช่วยเปลี่ยนชีวิตได้ สำหรับเทคนิคการฝึกฝนให้อ่านหนังสือได้เร็วขึ้นของ บูซาน ได้แก่

1. เรียนรู้วิธีการใช้สายตาเพื่ออ่านให้เร็วขึ้น (คุณสามารถหาอ่านได้ตามเว็บทั่วไป รวมถึง blog ต่างๆ)
2. ออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้สมองได้รับออกซิเจนมากขึ้น
3. เรียนรู้ที่จะจดจำเนื้อหาจากบทต่างๆ ในหนังสือ หรือจำหนังสือให้ได้ทั้งเล่ม
4. ศึกษาเกี่ยวกับวิธีการทำงานของสมอง

5. ตั้งกลุ่มอ่านเร็วและกลุ่มติวหนังสือกับเพื่อนๆ

       นอกจากนี้ การเลือกสรรหนังสือที่อ่านให้เหมาะสมกับตัวเองก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน โดย เจนนี รัสเซลล์ คอลัมน์นิสต์ และนักรีวิวหนังสือ บอกว่า การเลือกอ่านหนังสือที่เหมาะกับอายุเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกันหนอนหนังสือหลายคนบอกว่า บางครั้งความเบื่อหน่ายก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือได้เป็นจำนวนมาก รวมถึง การใช้เวลาว่างช่วงสั้นๆ เพียง 15-20 นาที เช่น ในระหว่างนั่งรออาหารค่ำ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เราอ่านหนังสือได้มากขึ้นเช่นกัน

ช่วงที่อ่านหนังสือที่ดีที่สุด อาจเป็น 2 ช่วงเวลานี้ในช่วง 1 วัน
1. ก่อนเข้านอน เนื่องจากเป็นช่วงที่เงียบสงบ (ทั้งๆที่คุณหลับ จิตใต้สำนึกก็รับข้อมูลไปใช้ประโยชน์)
2. ช่วงเช้ามืด ประมาณ 4.30 a.m. (คุณต้องพักผ่อนมาเพียงพอมาก่อนแล้ว ถึงจะเป็นช่วงเวลาที่เกิดประสิทธิภาพในการอ่าน) เพราะถือว่าเป็นช่วงหนึ่งที่เงียบสงบมากเช่นกัน เหมาะแก่การอ่านหนังสือ
(อ่านแล้วได้ idea ใหม่ๆ สดชื่นพอๆ กับการออกกำลังกายตอนเช้า)

      หากคุณงานยุ่งมากจนไม่มีเวลาอ่าน คุณควร set เวลาการอ่านหนังสือและอ่านในเวลาดังกล่าว


คำถามสุดท้าย คือ คุณจะเก่งขึ้นหรือได้รับคุณค่าจากการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุดได้อย่างไร?

1. จดสรุปในโน๊ตหรือสมุดของคุณเพื่อตกตะกอนความคิด และกลับมาอ่านเมื่ออยากจะรื้อฟื้นความรู้ในหนังสือเล่มนั้นๆ หรือใช้เป็นไอเดียประกอบความคิดในการทำงานของคุณ
2. พูดคุยหรือแบ่งปันไอเดียที่ได้จากหนังสือกับคนรอบข้าง เพื่อต่อยอดมุมมองและเปลี่ยนให้เป็นการปฏิบัติ

3. อ่านแล้วคิดว่าเป็นประโยชน์กับชีวิตคุณอย่างไรบ้าง จากนั้นแปรเปลี่ยนสิ่งที่ได้เหล่านี้ เป็นข้อที่คุณควรปฏิบัติทันที


สิ่งที่ควรรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องการอ่าน

1. หนังสือมีความต่างจาก Blog พอสมควร เนื่องจาก หนังสือมีการขัดเกลาและลับความคิดมามากระดับหนึ่งก่อนตีพิมพ์ ต่างจากการเขียน Blog (การเขียนหนังสือหนามากกว่า 100 หน้าต้องใช้ความพยายามและการตกผลึกทางความคิดมากกว่าการเขียน Blog)
2. เพื่อเพิ่มนิสัยรักการอ่านของคุณ คุณควรพกหนังสือไว้ติดตัวเสมอ เนื่องจากหากคุณพบว่าคุณต้องเสียเวลารออะไรบางอย่าง การอ่านหนังสือ ถือว่าเป็นการทำให้การรอนั้นเกิดประโยชน์มากขึ้น และอาจเพลิดเพลินมากกว่าเดิม
3. อ่านหนังสือหลายเล่มๆ พร้อมๆกันก็ได้ เพราะบางครั้งอ่านหนังสือเล่มเดียวกันติดกันเวลานาน อาจทำให้คุณเกิดความรู้สึกเบื่อขึ้นมาดื้อๆ ได้
4. ในยุคปัจจุบัน หนังสือไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปกระดาษเสมอไป ในรูปแบบ E-Book หรือรูปแบบ Audio Book ก็เป็นทางเลือกเพิ่มเติมการอ่านสำหรับคุณได้ โดยเฉพาะ Audio Book ที่คุณสามารถเปิดฟังได้ในเวลารถติด และ Audio Book บางเล่มใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็จบเล่มแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น