วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2557

สื่อสารอย่างไร? ให้คนฟังเข้าใจคุณ



       การสื่อความเข้าใจเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะไขนำคุณเข้าไปสู่ความสำเร็จทั้งในชีวิตการทำงาน และสถานะสังคม คุณจำเป็นต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของการสื่อความเข้าใจจะต้องรู้จักวิธีที่จะแบ่งปันแนวความคิดและประสบการณ์ เพื่อค้นหาสิ่งที่อยู่ในความสนใจ และเพื่อเป็นการอธิบายให้ผู้คนได้เข้าใจถึงความต้องการของคุณ

       ถ้าคุณต้องการเปิดเผยความรู้สึกที่เกิดอยู่ในใจแล้ว การพัฒนาหรือปรับปรุงวิธีการเพื่อการสื่อความเข้าใจ ซึ่งรวมทั้งภาษาพูดและภาษากายย่อมเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ซึ่งการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการสื่อความเข้าใจอย่างมีประสิทธิภาพ ยังหมายถึงความแตกต่างระหว่างการปรับตัวให้สามารถเข้ากันได้กับสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งคุณรู้จักดีอยู่แล้ว กับการสร้างโลกใหม่ให้กับตัวเองอย่างที่คุณอยากจะให้มันเป็น


การสื่อความเข้าใจที่ดี คืออะไร?


     
       คุณอาจจะได้แนวความคิดว่าการสื่อความเข้าใจที่ดี คืออะไร โดยศึกษาว่าการสื่อความเข้าใจนั้นมีคุณสมบัติต่อไปนี้หรือไม่

  1. ทำให้คุณได้รู้ในสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งต้องการพูด
  2. สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้ฟัง
  3. สามารถสร้างและคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม
  4. รู้ว่าผู้ฟังชอบและมีความสนใจในเรื่องใดบ้าง
  5. สามารถเลือกวิธีการสื่อความเข้าใจได้
  6. มีความเชี่ยวชาญในการสื่อความเข้าใจ
  7. สามารถเลือกทั้งได้เวลาและสถานที่ เพื่อการสื่อความเข้าใจ
  8. เป็นการสื่อความเข้าใจที่ชัดเจน สั้นๆแต่ได้ใจความ
  9. เป็นผู้ฟังที่ดี
  10. สามารถเข้าใจในสารที่รับได้อย่างดี
  11. ไม่ทำให้เกิดความฉงนสนเท่ห์
  12. รู้จักวิธีใช้คำพูด เมื่อจะปิดการสนทนาหรือการสื่อความเข้าใจลง
       กล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ การสื่อความเข้าใจที่ไร้ประสิทธิภาพนั้น คือ การใช้คำพูดที่ไม่ชัดเจน ไม่สามารถบอกให้อีกฝ่ายหนึ่งรู้ในสิ่งที่ตนต้องการพูด หรือควรจะพูดกับสิ่งใด มิได้ตระหนักในความต้องการหรือความสนใจของอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ยังใช้การสื่อความเข้าใจอย่างผิดทั้งกาลและเทศะด้วย


       การสื่อความเข้าใจที่ไร้ประสิทธิภาพนั้น ผู้พูดมักจะไม่ให้ความสนใจต่อผู้ฟัง ไม่สามารถตอบสนองต่อข้อมูลสะท้อนกลับที่ได้รับไม่ว่าจะโดยคำพูดหรือโดยภาษากาย จึงไม่รู้ว่ามันกำลังมีอะไรเกิดอยู่





ทำไมจึงต้องพัฒนาความสามารถในการสื่อความเข้าใจให้เชี่ยวชาญ?



       การสื่อความเข้าใจที่ดีนั้นทำให้คุณสามารถเปิดเผยตนเองให้เป็นที่เข้าใจของผู้อื่น เป็นการสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรและความสัมพันธ์รูปแบบอื่นให้เกิดเป็นผลอันน่าพึงพอใจ ส่วนการสื่อความเข้าใจที่ไม่ดีหรือไร้ประสิทธิภาพนั้นบ่อยครั้งที่จะส่งผลให้เกิดความสับสน ความหงุดหงิด ไม่ได้รับความสนใจ หรือไม่ก็อาจถึงขั้นดุหมิ่นเกลียดชังไปเลย

       การเป็นผู้สื่อความเข้าใจที่ดีนั้น คือการเป็นผู้ที่มีความสามารถในการรับและส่ง "สาร" โดยมีความสัมพันธ์อันดีเป็นเครื่องสนับสนุนอย่างเปิดเผย

       คุณสามารถจะรับหรือส่ง "สาร" ดังกล่าวได้หลายวิธี อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เรามักพบเห็นอยู่เสมอ คือ คนส่วนมากมักจะพบกับความยุ่งยากลำบากใจที่จะสื่อความเข้าใจแบบเผชิญหน้า

       มันก็ออกจะเป็นเรื่องแปลกอยู่ที่คนเรามักจะลืมว่าการสื่อความเข้าใจนั้น หมายถึง การถ่ายทอดข้อมูลจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง เขาลืมไปแล้วว่า ผู้ส่งและผู้รับข้อมูลดังกล่าวนั้นต่างบุคคลกัน ย่อมมีความต้องการ ความสนใจ เป้าหมายในชีวิตและทัศนคติในการมองโลกที่แตกต่างออกไป


ความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์



       การสื่อความเข้าใจทีดีนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์อันดีเป็นองค์ประกอบที่เข้ามาสนับสนุนอยู่ ความสัมพันธ์ดังกล่าวสามารถตัดสินได้จาก "บรรยากาศ" ที่กำลังมีการสื่อความเข้าใจเกิดอยู่ ถ้าบรรยากาศเต็มไปด้วยความรุนแรงหารือไม่ก็หยุดนิ่งอยู่กับที่แล้ว การสื่อความเข้าใจย่อมเป็นไปในทิศทางที่ไม่ดี แต่ถ้าบรรยากาศเต็มไปด้วยความสดใสแล้วโอกาสที่จะสื่อความเข้าใจให้ประสบความสำเร็จย่อมมีมาก

       การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดผลในการสนับสนุนนั้น คนเราจำเป็นจะต้อง
  1. เต็มใจที่ให้และรับข้อมูลสนองตอบ
  2. มองเห็นคุณค่าของกันและกันและปรารถนาที่ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน
  3. แสดงความเคารพในความต้องการและสิ่งที่อีกฝ่ายสนใจอย่างเต็มที่
  4. เต็มใจที่จะพูดถึงตนเองอย่างเปิดเผยเมื่อถึงเวลาอันสมควร
  5. มีความเชื่อว่าคนส่วนมากจะสนองตอบต่อสิ่งดีงามเมื่อได้รับการขอร้อง
  6. รับรู้ในสิทธิ์ในการเลือกของอีกฝ่ายหนึ่ง
  7. ตระหนักว่าคนเรานั้นไม่เหมือนกันทุกคนไป

เคล็ดลับในการสร้างความสัมพันธ์



       องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการพัฒนาความสัมพันธ์อันดีมีดังต่อไปนี้
  1. มีความเห็นอกเห็นใจ หมายถึง ความสามารถที่จะสัมผัสโลกโดยการมองจากทรรศนะของอีกฝ่ายหนึ่ง สัมผัสความรู้สึกเช่นที่เขาสัมผัสอยู่
  2. แสดงความรู้สึกที่ดีอย่างปราศจากเงื่อนไข หรือ มีความเชื่อที่ว่า ไม่ว่าบุคคลที่คุณกำลังสนทนาอยู่ด้วยนั้นจะเป็นใครก็ตาม เขามีความ "โอเค" ในความเป็นมนุษย์คนหนึ่งแม้พฤติกรรมที่เขาแสดงออกอยู่จะไม่เป็นที่น่าพอใจสำหรับคุณเท่าไรนัก แต่ในฐานะของความเป็นปถุชน มันมีความเป็นไปได้ และสามารถยอมรับได้
  3. ความเห็นพ้องต้องกัน หมายถึง การมองบุคคลที่คุณสร้างความสัมพันธ์อยู่ด้วยว่าเป็นปถุชน เป็นบุคคลที่พูดออกมา ซึ่งหมายความว่า จะต้องคงไว้ซึ่งความซื่อสัตย์จริงใจและสื่อ "สาร" ได้ทั้งคำพูดและภาษากาย
  4. การยอมรับ หมายถึง ความสามารถในการรับรุ้และถ่ายทอดสิ่งที่รับรู้นั้นไปยังบุคคล ตามสภาวะที่เขาอยู่เป็นอยู่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เช่นที่คุณคิดว่าเขาควรจะเป็น ซึ่งนั่นหมายถึงว่าคุณสามารถยอมรับได้ไม่ว่าความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของเขา
       
       ถ้าคู่สนทนาของคุณมีคุณสมบัติดังที่กล่าวมาแล้ว การสื่อความเข้าใจอันดีย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นการสื่อความเข้าใจที่ไม่ดีหรือไร้ประสิทธิภาพย่อมเป็นผลอันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือความรู้ในการส่งและรับ "สาร"

       แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังหมายความอีกนัยหนึ่งได้ด้วยว่า ความสัมพันธ์ไม่ดีเป็นผลเนื่องมาจากความไร้ประสิทธิภาพในการสื่อความเข้าใจนั่นเอง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น