วันอังคารที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558
ชีวิตที่ปราศจากเสียงเพลง
เคยลองจินตนาการดูเล่นๆหรือไม่ว่าถ้าโลกนี้ปราศจากเสียงเพลงชีวิตเราจะเป็นอย่างไร?
เทรเวอร์ คอกซ์ ศาสตราจารย์ด้านศาสตร์เกี่ยวกับเสียงและการได้ยินของมหาวิทยาลัยซัลฟอร์ด ลองเลิกฟังเพลงเป็นเวลา 40 วัน เพื่อทดลองดูว่าจะเกิดผลกระทบอย่างไรบ้าง และได้นำข้อมูลการค้นพบไปใช้ประกอบสารคดีที่จะออกอากาศในรายการวิทยุบีบีซี เรดิโอโฟร์ เขาค้นพบสิ่งสำคัญ 5 ประการคือ
1. สมองกลายเป็นจู๊กบ็อกซ์ (เครื่องเล่นเพลงแบบหยอดเหรียญ) เสียเอง – ศาสตราจารย์คอกซ์บอกว่าวันแรก ๆ ที่เริ่มงดฟังเพลงในหัวกลับมีแต่เสียงเพลงพลุ่งพล่านไปหมด และนึกจินตนาการถึงแต่เสียงเพลงตลอดเวลา เขาบอกว่ามันเหมือนกับว่าสมองเขากลายเป็นเครื่องเล่นเพลงอัตโนมัติ มีตั้งแต่เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องโปรดของเขาไล่ไปจนถึงเพลงคลาสสิกของโมสาร์ท และมีเสียงจากแซกโซโฟนในพลงที่เขาเล่น แต่หลังจากผ่านไป 2-3 วัน เขาก็รู้สึกสงบขึ้น
วิคตอเรีย วิลเลียมสัน นักจิตวิทยาดนตรีจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์บอกว่า สิ่งนี้เป็นปฏิกิริยาโต้ตอบของสมอง เมื่ออยู่ดี ๆ เราหยุดรับเสียงเพลงเข้ามาในหัว สมองก็จะชดเชยด้วยการสร้างจินตนาการเพลงขึ้นมาเอง
2. วัน ๆ คิดอยากแต่จะฮัมเพลงหรือไม่ก็ร้องเพลง – ศาสตราจารย์คอกซ์บอกว่าช่วงวันแรก ๆ ต้องบังคับตัวเองอย่างมากที่จะไม่เผลอร้องเพลงออกมาทั้งๆ ที่ในหัวเต็มไปด้วยเสียงเพลง มีอยู่ครั้งหนึ่งเผลอร้องเพลงออกมาจนได้ เขาบอกว่าตอนนั้นรู้สึกได้เลยว่ามีความสุขมากที่ได้ปลดปล่อยเสียงเพลงที่ก้องอยู่ในหัวออกมา
บอริส เคลเบอร์และทีมนักวิจัยได้ทดลองค้นคว้าหาความแตกต่างระหว่างการจินตนาการเพลงอยู่ในหัวกับการได้เปล่งเสียงร้องออกมาจริง ๆ โดยการให้นักร้องเพลงคลาสสิกลองร้องเพลงขณะทำการสแกนสมอง ผลการทดลองชี้ว่าสมองถูกกระตุ้นในบริเวณที่ต่างกันระหว่างตอนกำลังจินตนาการเพลงไว้ในหัวกับตอนที่ร้องเพลง ซึ่งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นนั้นเป็นไปได้ว่าสมองส่วนที่ถูกกระตุ้นตอนร้องเพลงนั้นเด่นชัดกว่าเนื่องจากต้องใช้ร่างกายร่วมด้วยในการเปล่งเสียงร้อง
3. ไม่ใช่ทุกคนจะชอบฟังเพลงเสมอไป – หลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ ศาสตราจารย์คอกซ์บอกว่าเขาเริ่มรู้สึกเหนื่อยและเบื่อ สาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะเขาไม่ได้ใช้ความสามารถด้านเสียงเพลงของตนไปกระตุ้นศูนย์ความพอใจในสมอง อย่างไรก็ตาม เสียงเพลงอาจไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ทุกคนรู้สึกเบิกบานเสมอไป
การศึกษาของมหาวิทยาลัยบาร์เซโลนาเมื่อปีที่แล้วชี้ว่ามีคนที่ไม่ชอบฟังเพลงและตั้งชื่ออาการแบบนี้ว่าซึมเศร้าจากการฟังเพลง นักวิจัยให้พวกเขาฟังเพลงสลับกับเล่นเกม และพบว่าคนที่ซึมเศร้าจากการฟังเพลง มีความสุขมากกว่าถ้าได้เล่นเกม นักวิจัยชี้ว่าศูนย์ความพอใจในสมองของพวกเขาทำงานต่างไปจากคนทั่ว ๆ ไป
4. วิธีเดียวที่จะเลี่ยงเสียงเพลงได้อย่างสิ้นเชิงคือต้องปลีกวิเวกไปอยู่คนเดียว – ศาสตราจารย์คอกซ์บอกว่า ในความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเลี่ยงการได้ยินเสียงเพลงอย่างเด็ดขาด เพราะรอบ ๆ ตัวก็มีเสียงเพลงรอดมาให้ได้ยินเสมอ ไม่ว่าจากร้านค้าต่าง ๆ หรือแม้แต่เสียงที่รอดมาจากหูฟังของคนที่เดินสวนกันบนถนน ต่อให้ใส่ที่อุดหูก็ยังได้ยินอยู่ดีถ้าเสียงนั้นดังมาก ๆ ในช่วงระหว่างการทดลองนี้เขาจึงใส่หูฟังและเปิดเครื่องเล่นเพลงที่เล่นเสียงก้องเพื่อกลบเสียงอื่น ๆ ซึ่งว่ากันว่าวิธีนี้เป็นหนึ่งในเทคนิคของหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของประสาทรับรู้จากสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นแล้ว ถ้าคิดจะตัดโลกแห่งเสียงเพลงออกไปจากชีวิตก็คงต้องย้ายตัวเองไปอยู่ในที่ห่างไกลและปิดเครื่องมือสื่อสารและตัดเทคโนโลยีทุกอย่างออกไปให้หมด
5. เสียงเพลงนั้นมีอยู่ทุกหนแห่งจนบางทีเราก็ลืมไปว่าสิ่งที่ได้ยินอยู่นั้นคือเพลง – ในช่วงหนึ่งของการทดลอง ศาสตราจารย์คอกซ์เดินเข้าไปในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง เวลาผ่านไปหลายนาทีเขาเพิ่งรู้สึกได้ว่าในร้านเปิดเพลงอยู่ ซึ่งทำให้เขาต้องรีบเดินออกจากร้านไปทันที
สาเหตุที่สมองใช้เวลาหลายนาทีในการส่งสัญญาณเสียงไปยังสมองนั้นเป็นเพราะการได้ยินของคนเราเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หูของเราได้ยินเสียงต่าง ๆ ตลอดเวลา และเราไม่สามารถเลี่ยงการได้ยินได้ ในขณะที่เราสามารถเลี่ยงการมองเห็นได้เพียงแค่เลือกจะปิดเปลือกตาลง แต่สมองจะเป็นตัวสั่งการว่าควรให้ความสนใจกับเสียงใด และส่วนเพิกเฉยต่อเสียงใด เป็นต้นว่าเวลาเราเข้าคิวอยู่ในร้านอาหารและจิตใจจดจ่ออยู่กับอาหารที่อยากกิน สมองเราอาจไม่รับรู้ว่ามีเสียงเพลงอยู่ในร้าน
คุณคิดว่า ถ้าต้องงดฟังเพลงอย่างน้อย 1 สัปดาห์คิดว่าชีวิตของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง?
Cr. BBC Thai
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น